การตรวจประเมิน ท่านต้องปฏิสัมพันธ์กับคนมากมาย เพราะวิธีหนึ่งในการหาหลักฐานความมีประสิทธิผล คือการสัมภาษณ์ ทักษะที่สำคัญมากส่วนหนึ่งคือ "การฟัง" เนื่องจากเป็นวิธีการที่ทำให้เรา ได้รับข้อมูลเนื้อหาต่างๆ มาใช้ในการประมวลตัดสินใจยิ่งเราสามารถรับรู้ข้อมูลได้มากเท่าไหร่ ท่านก็มีปัจจัยใช้ในการตัดสินใจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น
บางครั้งจากการฟังที่ไม่ได้ลึกพอ ทำให้เกิดการเข้าใจบิดเบือน เข้าใจผิด หรือไม่เข้าใจในเจตนาที่แท้จริงของผู้พูดเลยด้วย ก่อให้เกิดปัญหาตามมา อย่าง ที่เราพบได้ทั่วไป หรือในบางกรณีเมื่อเราไม่ได้ใส่ใจที่จะฟังคนอื่นมากเท่าไหร่ ผู้พูดเองก็ไม่รู้สึกมีคุณค่าต่อผู้ฟังแต่อย่างไร ทำให้อาจพูดไปแกนๆ แค่นั้น แต่ถ้าเราฟังเขาอย่างตั้งใจ สนใจในมิติต่างๆ ของผู้พูดแล้ว อาจทำให้ผู้พูดสามารถอยากคุยต่อไปลงลึกได้มากขึ้น หรือถึงขนาดไว้ใจอยากเล่าปัญหาต่างๆ ให้ฟังด้วยซ้ำ
เราอาจลองถามตัวเองดูว่า เวลาเราพบปะผู้คนเราตั้งใจฟังคนแต่ละคนแค่ไหน เรารับรู้สิ่งที่ผู้พูดพยายามบอกเราได้ครบหรือไม่ ได้มากน้อยเพียงใด หรือเรารับรู้สิ่งที่ผู้พูดอาจไม่ได้ตั้งใจจะบอกเราได้บ้างหรือเปล่า ในเวลาส่วนใหญ่ของเราแต่ละวัน เราได้ตั้งใจฟังใครอย่างลึกซึ้งจริงๆ กี่คน
เป็นคำบรรยาย เป็นข้อเท็จจริง หรือเป็นเนื้อหาอะไรก็ตามที่เอ่ยออกมา การพูดเร็วหรือช้า ความมีเหตุมีผล หรือฟังแล้วกระโดดไปมา มีผลต่อความเข้าใจในเนื้อหาของคำพูดที่้ต้องการสื่อ ตัวอย่างเช่น การพูดเร็วหรือช้าเป็นสไตล์การพูดของแต่ละคน โดยทั่วไปเรามักจะฟังได้ เนื้อหาหรือเข้าใจว่า คำที่ผู้พูดบอกเราคืออะไร
อะไรคือความรู้สึกเบื้องหลังคำพูดเหล่านั้น ตอนนี้ผู้พูดรู้สึกอย่างไร เขาหรือเธอรู้สึกอย่างไรต่อเรื่องที่เล่า การสังเกตภาษาที่ไม่ใช่คำพูดก็จะช่วยได้มาก เช่น สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง ถ้าเราลองดูความรู้สึก ในบางกรณีความรู้สึกของผู้พูดอาจแสดงไม่เด่นชัด เราผู้ฟังยิ่งต้องเปิดใจรับฟังให้ลึกซึ้งเข้าไปอีก หรือสังเกตพฤติกรรมต่างๆ อย่างละเอียดมากขึ้น
อะไรคือความหมายที่แท้จริงที่ผู้พูดหมายถึง ที่จริงแล้วผู้พูดมีความตั้งใจอะไร ผู้พูดมีแนวโน้มจะทำอะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น เริ่มต้องอาศัยการตีความของผู้ฟังเข้ามาช่วย ข้อควรระวังคือ เราอาจเผลอตีความเกินจริงไปทั้งในส่วนของความรู้สึกและความตั้งใจได้ เพราะไม่ออกมาชัดเหมือนคำพูดเนื้อหา ควรเผื่อใจไว้ด้วยว่านี่เป็นเพียงการตีความของเราที่อาจผิดพลาดได้ ถ้าจะให้ถูกต้องจริง อาจถามกลับเพื่อสะท้อนความเข้าใจถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่เหมาะสม
ทักษะการฟังนั้นไม่จำกัดเฉพาะผู้ตรวจประเมิน ท่านที่เป็นหัวหน้างาน ลองหันกลับไปฟังลูกน้องที่ที่ทำงานดู ฟังให้ละเอียดขึ้น ตั้งใจมากขึ้น ดูว่าเราได้อะไรบ้าง เราเข้าใจเขาเหล่านั้นมากขึ้นหรือไม่ เราได้ข้อมูลมาตัดสินใจงานของเราดีขึ้นหรือไม่ หรือเราสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น จากการฟังที่รับรู้ความรู้สึกและความตั้งใจไปพร้อมกับเนื้อหาด้วย
หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของการฟัง ไม่ว่าจะด้วยเทคนิคใดก็ตาม นั่นคือความตั้งใจของเราที่จะ "เข้าใจ" เขาหรือเธอผู้พูดเหล่านั้นอย่างแท้จริง มิใช่เพียงได้ข้อมูลผิวเผิน ซึ่งการฟังอย่างตั้งใจนี้ส่งผลให้เกิดสิ่งอื่นๆ ตามมาที่น่าสนใจอีกมาก
ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ISO9001:2008 , 8.2.2
ข้อมูล: ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2550