Login Form

การเตรียมพร้อมตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน OHSAS18001 4.4.7

ดาวน์โหลดบทความต้นฉบับ Pdf

(4.4.7 การเตรียมพร้อมตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน)

 อะไรคือเหตุฉุกเฉิน (Emergency)

 ฉุก เฉินคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยไม่ได้มีการคาดคิดมาล่วงหน้า โดยเหตุฉุกเฉิน ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าอุบัติภัยต่างๆ จะเกิดขึ้นเมื่อใด  บางครั้งอุบัติภัยหนึ่งๆ ก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงโดยที่ไม่มีการแจ้ง เตือนล่วงหน้าใดๆ หรือมีสิ่งบ่งชี้ล่วงหน้าให้ทราบเพียงเล็กน้อย คำว่าฉุกเฉินมีความคล้ายกับคำว่า ฉุกละหุก (หมายความตาม พจนานุกรม : สับสนวุ่นวายเพราะมีเรื่องเกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วนโดยไม่คาดฝัน)   คำว่า ฉุกเฉิน ( emergency ) ตามความหมายในพจนานุกรม หมายถึง [ที่เป็นไปโดยปัจจุบันทันด่วนและจะต้องรีบแก้ไขโดยฉับพลัน]

เหตูฉุกเฉิน/ภาวะ ฉุกเฉิน คือ เหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ทันทีทันใด ทำให้เกิดการเสียชีวิต บาดเจ็บ และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภาย นอกสถานประกอบการ

คำว่าฉุกเฉินจึงหมายถึง เหตุการณ์ที่เป็นเรื่องเร่งด่วน (รวมทั้งอาจคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด หรือ รวมทั้งสภาวะเหตุหรือไม่ก็ได้) ซึ่งมักต้องการการลัดตัดขั้นตอนสายงานบังคับบัญชา ระบบการทำงาน หรือระบบการปฏิบัติการที่เป็นปกติประจำวัน  (เราจะไม่ใช้ระบบปกติไปจัดการกับสิ่งผิดปกติ) เพื่อจัดการกับภัยพิบัตินี้อย่างรวดเร็วและฉับพลัน จะมารอผ่านการอนุมัติตามสายงานไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมักต้องมีสาย งานบังคับบัญชาพิเศษเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นๆขึ้น และต้องมีกรอบแนวทางวิธีการจัดการกับสิ่งนั้นไว้ในยามเกิดเหตุไว้

4.4.7 การเตรียมพร้อมตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน


องค์กรต้องจัดทำ นำไปใช้ และคงไว้ซึ่ง ขั้นตอนปฏิบัติ :

a) เพื่อชี้บ่งภาวะฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นได้

b) เพื่อตอบโต้ภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้น

  

องค์กรต้องตอบโต้ภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้น และ ป้องกันหรือบรรเทาผลเสียหายด้านOH&Sที่จะเกิดขึ้นตามมา.

ในการวางแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน องค์กรต้องพิจารณาถึงความจำเป็นกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง, เช่น ด้านความช่วยเหลือฉุกเฉิน และชุมชนอาศัยโดยรอบ.

องค์กรต้องทดสอบขั้นตอนการดำเนินงานสำหรับตอบโต้ภาวะฉุกเฉินตามช่วงเวลาที่กำหนด, เท่าที่ประยุกต์ได้,ให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมตามความเหมาะสม.

องค์กรต้องทบทวนและ, หากจำเป็น,ปรับปรุงขั้นตอนปฏิบัติสำหรับการเตรียมความพร้อมและการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินตามช่วงเวลาที่กำหนด, โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการทดสอบ และหลังการเกิดภาวะฉุกเฉิน (ดู 4.5.3).                   

 4.4.7 Emergency preparedness and response
The organization shall establish, implement and maintain a procedure(s):

a) to identify the potential for emergency situations;

b) to respond to such emergency situations.

The organization shall respond to actual emergency situations and prevent or mitigate associated adverse OH&S consequences.

In planning its emergency response the organization shall take account of the needs of relevant interested parties, e.g. emergency services and neighbours.

The organization shall also periodically test its procedure(s) to respond to emergency situations, where practicable, involving relevant interested parties as appropriate.

The organization shall periodically review and, where necessary, revise its emergency preparedness and response procedure(s), in particular, after periodical testing and after the occurrence of emergency situations (see 4.5.3).

 หากเราสามารถรู้ล่วงหน้าได้หรือคาดการณ์ได้ หรือสิ่งนั้นหากเกิดขึ้น จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อกระบวนการผลิตหรือไม่ก่อให้เกิดความปลอดภัยพนักงานที่มิอาจควบคุมได้ ก็ไม่ต้องถือเป็นเหตุฉุกเฉินที่ต้องมีแผนรองรับ

 

ทำไมต้องมีแผน

แผน (plan) คือ การกำหนดวิธีการในการปฏิบัติงานในอนาคต เพื่อให้งานสำเร็จเสร็จสิ้นตามเป้าหมาย โดยหลักๆจะมีการกำหนดว่า จำทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร ทำอย่างไร และใครเป็นคนทำ

 

แผน คือสิ่งคิดว่า”ตัองทำ”ไว้ล่วงหน้า ให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องกระทำระหว่างเกิดเหตุฉุกเฉิน การจัดการในเรื่องแผนฉุกเฉินที่ดีจะช่วยให้ลดการบาดเจ็บ หรือลดความรุนแรง และการเสียหายได้ ในทางกลับกันหากแผนไม่ได้รับการจัดการไว้เป็นอย่างดี อาจจะทำให้เกิดการสับสนวุ่นวายระหว่างตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บ เจ็บป่วย ล้มตาย เสียหาย โดยไม่จำเป็นได้

 

OHSAS 18001:2007

องค์กรต้องจัดทำ นำไปใช้ และคงไว้ซึ่ง ขั้นตอนปฏิบัติ :

a) เพื่อชี้บ่งภาวะฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นได้

b) เพื่อตอบโต้ภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้น

 

 

 


 

การระบุชี้บ่งสถานการณ์ที่อาจเกิดเหตุฉุกเฉินได้        

 

การระบุชี้บ่ง สถานการณ์ที่อาจเกิดเหตุฉุกเฉินจะเป็นเรื่องต่อเนื่องกับ การระบุและประเมินความเสี่ยงตามข้อกำหนด 4.3.1

อะไรที่มีการระบุอันตรายได้รับการประเมินว่ามีความรุนแรงสูง และ/หรือมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการล้มเหลวของระบบควบคุม ให้นำสิ่งนั้นมาจัดทำแผนรับเหตุฉุกเฉิน

 

สิ่งแรกที่ข้อกำหนดข้อนี้ต้องการคือการระบุอุบัติการณ์ อุบัติเหตุและเหตุฉุกเฉินทั้งหมดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ภายใต้สภาวะการปฏิบัติงานตามปกติ และในระหว่างเหตุการณ์เช่นการเริ่มเดินเครื่องจักร การหยุดเครื่องจักร เหตุการณ์อื่นๆที่ไม่เป็นไปตามการปฏิบัติงานตามปกติ และเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมขององค์กร

 

มีแนวทางหลากหลายที่สามารถนำมาใช้ระบุเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น ดังตัวอย่างเช่น

  • ทบทวนอุบัติการณ์ที่บันทึกในไว้ 5 ปีที่ผ่านมา
  • ตรวจสอบสถิติประเภทอุบัติการณ์และเหตุฉุกเฉินที่เคยเกิดขึ้นรวมทั้งพื้นที่  เวลาที่เกิด กะ(shifts)  สภาพการปฏิบัติการ สภาพอากาศและปัจจัยสำคัญอื่นๆ  (รวมทั้งที่เคยเกิดในอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกัน)
  • ทบทวนประเด็นปัญหาอาชีวะอนามัยและความปลอดภัยที่อาจเกิดเป็นเหตุฉุกเฉินได้ภายใต้สภาพการปฏิบัติงานที่ผิดปกติ
  • ระดมความคิดจากกลุ่มบุคคลที่ทำงานในพื้นที่ต่างๆถึงเหตุการณ์ฉุกเฉินและอุบัติการณ์ที่เป็นไปได้
  • กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการเฉพาะ ที่กำหนดให้องค์กรต้องจัดทำแผนฉุกเฉินและซักซ้อม

 

OHSAS 18001:2007

องค์กรต้องจัดทำ นำไปใช้ และคงไว้ซึ่ง ขั้นตอนปฏิบัติ

a) เพื่อชี้บ่งภาวะฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นได้

b) เพื่อตอบโต้ภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้น

 

 

ขั้นตอนปฏิบัติในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้น

 

ก่อนที่จะเริ่มวางแผนรับเหตุฉุกเฉิน ผู้วางแผนจะต้องทราบถึงชนิดของเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นภายในสถานประกอบการณ์และรวมถึงบริเวณทีมีโอกาสเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้มากทีสุดเสียก่อน

พื้นที่ที่อาจเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ดังกล่าว ต้องได้รับการกำหนดผังแผนที่ไว้ให้ชัดเจนและ   จัดอุปกรณ์สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินไว้ใกล้ๆ พื้นที่ใกล้เคียงที่อาจเสียหายได้จากเหตุการณ์ฉุกเฉินในโรงงานควรระบุและทำเครื่องหมายไว้บนแผนที่ สำหรับการแจ้งให้ทราบอย่างรวดเร็วหรือกระทำการใดๆถ้าหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น ควรมีการระบุทิศทางของลมไว้บนแผนที่เพื่อกำหนดพื้นที่ใต้ลมที่เป็นไปได้มากที่สุด

 การจัดการกับเหตุฉุกเฉินต้องเป็นอย่างไร

ระบบการจัดการกับเหตุฉุกเฉินนี้ควรได้รับการระบุและจัดการกับ เหตุฉุกเฉินที่มาจากคนและเหตุภัยธรรมชาติ องค์ประกอบที่สำคัญในการจัดการเหตุฉุกเฉินจะมี 4 ประเด็นได้แก่ 

1. การป้องกัน (Prevention)   2. การเตรียมการ (Preparedness) 3. การตอบสนอง/ตอบโต้  (Response) 4 ฟื้นฟูเยียวยา (Recovery) 

 

เหตุฉุกเฉิน

ระบบ / สถานที่

สาเหตุที่นำสู่เหตุฉุกเฉิน

วิธีทำงานเพื่อความปลอดภัย

ก๊าซระเบิด

ถังเก็บก๊าซ

ลิ้นนิรภัยอยู่ผิดที่

ถังเก็บถูกกัดกร่อน

ความดันในถังสูงมากไป

ตรวจสอบลิ้นนิรภัย

ป้องกันถังเก็บถูกกัดกร่อน

ตรวจวัดอุณหภูมิและความดัน

ตรวจสอบลิ้นนิรภัย

 

 ในส่วนการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน และ การฟื้นฟูเยียวยา ไม่มีใครคาดให้เกิดและเกิดจริงไม่บ่อย (หวังว่าไม่บ่อย !) เมื่อเกิดไม่บ่อย ท่านจะคาดการณ์สถานการณ์และควบคุมผลกระทบได้ลำบาก  ท่านจึงต้องเน้นที่การป้องกัน และ เตรียมการ  ไม่ใช่การรั้งรอเพื่อตอบสนองต่อการเกิดเหตุจริง !! และเป็นสิ่งสุดท้ายที่คาดหวังว่าจะมีมการนำไปปฏิบิติ

 การเข้มงวดกับ “การป้องกัน”และ”การเตรียมการ” เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นสิ่งที่เราตระเตรียมจัดการเตรียมพร้อมได้ล่วงหน้า  เหตุฉุกเฉินมักเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง หรือเกิดขึ้นไม่ตรงกับที่คาดการณ์อยู่เสมอ การตอบโต้เป็นสิ่งที่ไม่มีความไม่แน่นอนสูง

“การป้องกัน”และ”การเตรียมการ”  เพื่อไม่ให้เหตุฉุกเฉินจริงเกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ  เช่น ต้อง ”ป้องกันการเกิดไฟไหม้” มากกว่า ”อพยพหนีไฟ หรือดับไฟ”  ต้องป้องกันไม่ให้”เกิดสารเคมีหกล้น” มากกว่า “ตอบสนองต่อการเกิดสารเคมีหกล้น”

ไม่ว่าอย่างทั้ง 4 ส่วนนี้ ต้องได้รับการพิจารณา และอยู่ในระบบการจัดการกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิด 

ระยะก่อนเกิดเหตุ  ป้องกันและเตรียมการ

การเตรียมระบบความปลอดภัยของอาคารและการทำงาน

การจัดเตรียมระบบความปลอดภัยในอาคารสถานที่

  1. การจัดเตรียมอาคารสถานที่ 
  • การเลือกตำแหน่งที่ตั้ง ต้องห่างจากชุมชน ส่วนอันตรายต้องมีป้องกันจากการแผ่รังสีความร้อน ลูกไฟของสารเคมีที่ระเบิด จุดพื้นที่ระเบิดควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ทางเข้าสะดวก ระยะห่างระหว่างอาคารป้องกันการล้มทับ
  • การออกแบบอาคาร ง่ายต่อการอพยพ มีหลายชั้นหรือชั้นเดียว อาคารหน่วยผลิตที่มีสารไวไฟออกจากอาคารอื่นๆ กำแฟงกันไฟ การป้องกันควันไฟ แสงสว่างในทางหนีไฟ  
  • การเลือกอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย ป้องกันการระเบิดลุกไหม้ การป้องกันการลัดวงจร
  • วัสดุที่ใช้ตกแต่งภายในอาคาร การวาบไฟ การจุดติดไฟ การลามไฟ การให้ควัน การปราศจากก๊าซพิษ
  1. การติดตั้งสัญญาณแจ้งเหตุอันตราย  ตามกฎหมายและตามความจำเป็น ซึ่งรวมถึงระบบสัญญาณแจ้งเหตุและสัญญาณประกาศภาวะฉุกเฉิน
  2. การจัดเตรียมอุปกรณ์รับเหตุฉุกเฉิน เช่น
    1. อุปกรณ์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ( อุปกรณ์ดับเพลิง รถดับเพลิง ผ้าห่มดับเพลิง ถังเก็บน้ำ แหล่งน้ำ การวางท่อ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าอิสระซึ่งสำรองกรณีไฟฟ้าดับ หัวจ่ายดับเพลิง สายดับเพลิง ข้อต่อ หัวสูบ ระบบท่อยืนและท่อดันน้ำ)
    2. อุปกรณ์ช่วยชีวิต หน้ากากหายใจ ชุดปฐมพยาบาล ตู้ยา เครื่องช่วยหายใจ แผ่นกระดานเคลื่อนย้ายผุ้ป่วย อุปกรณ์หรับสารพิษ (อ่างล้ามมือ ฝักบัวฉุกเฉิน )
  3. การจัดเก็บสารอันตราย สารที่ระเบิด  การจัดเก็บตามชนิดและปริมาณที่กำหนด การติดป้ายเตือน การควบคุมการเข้าถึง

 

การจัดเตรียมมาตรการความปลอดภัยในการทำงาน

ประกอบด้วย

1  มาตรฐานมาตรการในการทำงาน มีไว้เพื่อลดการเกิดความผิดพลาดจากคน และ

2. ระบบรักษาความปลอดภัยที่ต้องมี  พื้นที่อันตราย พื้นที่หวงห้าม (พื้นที่อันตราย เช่น พื้นที่มีก๊าซไวไฟ ก๊าซพิษ  , พื้นที่หวงห้ามเพื้อป้องกันการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ที่เข้าไปในบริเวณนั้นเช่น คลังเก็บผลิตภัณฑ์ บริเวณเก็บสารเคมี แนวท่อลำเลียง บริเวณกระแสไฟฟ้าแรงสูง )

 

การจัดเตรียมศูนย์ควบคุมเหตุฉุกเฉิน

มาตรฐานศุนย์ควบคุมเหตุนี้ จะมากน้อยที่ต้องเตรียมก็แล้วแต่เหตุที่อาจเกิด เช่นหากองค์กรท่านไม่มีสารเคมี สารระเบิดได้ ก็ไม่ต้องกังวลหรือต้องตระเตรียมใด

 

ที่ตั้งศูนย์นี้ ต้องสามารถ อยู่ห่างจาก เชื้อเพลิง หรือสารที่ระเบิด  ต้องสามารถสกัดกั้น ลุกลาม มาที่ศุนย์นี้ได้

สถานที่นี้จะใช้เป็นศุนย์กลางในการสั่งการ ซึ่ง สถานที่ตั้งอาจเป็น สำนักงาน ป้อมยาม ห้องใต้ดิน ต้อง เข้าออกง่าย มีความเสี่ยงน้อยสุดในการล้มเหลวหรือกระทบต่ออุบัติภัย

สถานที่ควรเป็นจุดที่เห็นเหตุการณ์มากสุด  หากเหตุฉุกเฉินคือกาซพิษ ให้มีสองแห่งตามทิศทางลม

เนื้อที่ ต้องกว้างขวางพอ ห้องมีทนไฟ  ทนทานต่อความร้อน หรือ แรงระเบิดได้ หรือมีระบบควบคุมอากาศในกรณีเกิดสารพิษ

ต้องมีพื้นที่พอในการใช้เป็นส่วนบริเวณสื่อสาร สั่งการ สนับสนุน

ขนาดห้องต้องใหญ่พอ  อาจต้องมี ห้องอาหาร ห้องนอน ห้องน้ำ ตู้ยา อุปกรณ์ 

ข้อมูลในห้อง ที่ต้องมีพร้อมเช่น แผนผังบังคับบัญชา รายชื่อ หน่วยงานและติดต่อ

แผนผังสถานประกอบการ ที่เก็บอุปกรณ์ปลอดภัย ที่ตั้ง สารเคมี สารไวไฟ

แผนผังชุมชน หน่วยงาน โทรศัพท์

มี วิทยุติดต่อสื่อสาร มี ไฟแสงสว่างฉุกเฉิน  แผงควบคุมต่างๆ ตามความจำเป็น

การจัดองค์กรรับเหตุฉุกเฉิน

ต้องมีการกำหนดคน กำหนดหน้าที่ บทบาทเตรียมพร้อม เพื่อลดการสับสนในการสั่งงาน เช่น ผู้บัญชาการเหตุฉุกเฉิน ผู้ควบคุมเหตู ผู้ประสาน ผู้อำนวยการเหตู หัวหน้าฝายวิศวกรรม หัวหน้าฝ่ายความปลอดภัย หัวหน้ารักษาความปลอดภัย หัวหน้างานต่างๆ ในช่วงเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย

 


 

วิธีการเขียนแผนจะเริ่มจากการประเมินเหตุการณ์ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดขึ้นและมีระดับความรุนแรงที่จะทำให้ต้องใช้แผนกู้ภัยฉุกเฉิน

 

สำหรับเหตุการณ์ที่เล็กน้อยไม่รุนแรงที่ผู้พบเห็นเหตุการณ์หรือพนักงานทั่วไปสามารถระงับเหตุการณ์ได้ทันทีก็ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ในแผนกู้ภัย

ท่านควรทำการประเมินโอกาสการเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่อาจมีผลกระทบต่อ OH&S เพื่อทำการจัดทำขั้นตอนสำหรับการตอบโต้เหตุอย่างมีประสิทธิผล  ขั้นตอนหรือแผนฉุกเฉินนี้สามารถระบุต่อสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งใดหรือรวมกันก็ได้  ในกรณีที่ใช้ควบรวมกับสำหรับซ้อมไฟใหม้หรือซ้อมฉุกเฉินสำหรับสิ่งแวดล้อม ให้ระวังว่าอาจหลุดประเด็นด้าน OH&S

 

ในการระบุสถานการณ์นี้ให้พิจารณาทั้งงานที่ทำเป็นประจำและไม่ประจำ รวมทั้งช่วง เริ่มเดินเครื่อง หรือ ปิดการซ่อมใหญ่ การก่อสร้างหรือระหว่างการเคลื่อนย้าย

แผนฉุกเฉินนี้ต้องได้รับการทบทวนในการบริหารการเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่อาจมีผลกระทบเช่น การเปลี่ยนแผนผังโรงงานต่อการเส้นทางอพยพ

 องค์กรควรมีการประเมินความเสี่ยงว่าสถานการณ์ฉุกเฉินนี้จะส่งผลกระทบต่อพนักงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร โดยให้พิจารณาครอบคลุมพนักงานที่อาจมีปัญหาด้านการได้ยินหรือมองเห็นด้วย  และแน่นอนต้องรวมถึงพนักงานประจำ พนักงานชั่วคราว สัญญาจ้าง ผู้เยี่ยมชม ชุมชนข้างเคียง หรือ  อื่นๆ 

ควรต้องพิจารณาผลกระทบด้าน OH&S เป็นพิเศษโดยเฉพาะต่อบุคคลที่ทำหน้าที่ตอบโต้เหตุฉุกเฉินเช่น ดับเพลิง

ข้อมูลที่ต้องนำมาพิจารณากำหนดสถานการณ์ที่อาจเป็นเหตุฉุกเฉินอาจได้มาจาก

  • ข้อกำหนดกฎหมาย
  • อุบัติการณ์ที่เคยเกิดก่อนหน้าและเหตุฉุกเฉินที่ประสบเหตุ
  • ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นกับองค์กรคล้ายๆกัน
  • ข้อมูลในเวปไซด์ หรือ องค์กรต่างๆ

OHSAS 18001 : 2007

องค์กรต้องตอบโต้ภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้น และ ป้องกันหรือบรรเทาผลเสียหายด้านOH&Sที่จะเกิดขึ้นตามมา.

ในการวางแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน องค์กรต้องพิจารณาถึงความจำเป็นกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง, เช่น ด้านความช่วยเหลือฉุกเฉิน และชุมชนอาศัยโดยรอบ.


 แผนฉุกเฉินต้องมีลักษณะอย่างไร

ข้อกำหนด OHSAS18001 กำหนดหัวข้อ 4.4.7  ว่า “การเตรียมพร้อม และ กู้ภัยภาวะฉุกเฉิน( Emergency preparedness and response)  ดังนั้นสำหรับข้อกำหนดข้อนี้จะมีสองเรื่องคือ “การเตรียมพร้อม” และ “การตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน”

การตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินเป็นแนวทางในการลดความรุนแรงและความเสียหายของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น  ด้วยเหตุผลนี้รายละเอียดในแผนงานจัดการต่อภาวะฉุกเฉินนี้ ต้องกำหนดมาตรฐาน วิธีการ/ขั้นตอน ที่ละเอียดเพียงพอต่อการทำให้ความรุนแรงและความเสียหายของอุบัติเหตุนั้นลดลง!

 

 

อะไรคือวัตถุประสงค์ในการเตรียมแผนฉุกเฉิน

  • เพื่อลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ และจำกัดความเสียหายที่จะเกิดต่อชีวิต ทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อมให้เกิดน้อยที่สุด
  • ช่วยผู้ที่ตกอยู่ในอันตราย รักษาชีวิตผู้ปฏิบัติตามแผน และผู้ที่บาดเจ็บจากเหตุฉุกเฉิน
  • เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันทุกระดับในองค์กรอย่างเหมาะสม โดยกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแนวทางการประสานความร่วมมือ
  • เพื่อเตรียมความพร้อมตอบโต้สำหรับภาวะฉุกเฉิน
  • เพื่อให้ทุกคนรู้หน้าที่ของตนเองโดยการฝึกซ้อมการปฏิบัติการตามแผนฉุกเฉินและทำให้เกิดความคุ้นเคย
  • เพื่อให้เกิดการประสานงานระหว่างหน่วยงานภายใน และหน่วยงานภายนอกในการช่วยเหลือและกู้ภัย

 

จากวัตถุประสงค์ที่กล่าวนี้  ทำให้ควรมีการจัดทำและฝึกซ้อมแผนฉุกเฉิน  รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานตามแผนและการบำรุงรักษาอุปกรณ์ รวมทั้งเครื่องมือสำหรับการปฐมพยาบาลที่ใช้ในแผนฉุกเฉินอย่างสม่ำเสมอ 

สำหรับองค์กรที่มีขนาดใหญ่หรือเป็นองค์กรที่อาจก่ออุบัติภัยร้ายแรงหรือเป็นองค์กรที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายระดับร้ายแรง ในแผนฉุกเฉินควรเน้นให้มีการประสานงานระหว่างองค์กรกับหน่วยงานของรัฐ  รวมถึงแผนเตรียมการรับเหตุวินาศกรรม แผนเตรียมการสำหรับภัยธรรมชาติและแผนเตรียมการสำหรับควบคุมฝูงชนด้วย !

 

 

ระดับของเหตุการณ์ฉุกเฉิน

           

 

เพราะมักเกินกำลังความสามารถของพนักงานคนใดคนหนึ่ง แผนฉุกเฉินเลยเน้นที่จะรวบรวมสัพพะกำลัง ประสานงาน ติดต่อกันอย่างไร ในภาวะตื่นเต้นตกใจ ยาม ฉุกละหุก

แผนแก้ไขปัญหากรณีเหตุการณ์ฉุกเฉินของหลายๆองค์กรกำหนดเป็น 3 ระดับ สำหรับจัดการกับเหตุการณ์ที่มีขนาดและขอบเขตต่างๆกัน

  1. สามารถจัดการได้โดยบุคคลในแผนกนั้นๆเอง  (หากเป็นความรุนแรงระดับนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรสามารถจัดการได้เอง ระเบียบปฏิบัติ เกณฑ์วิธีการ เทคนิค ในการจัดการกับเหตุฉุกเฉินแต่ละกรณีให้มีการกำหนดเป็นการเฉพาะ เพื่อใช้ในการอบรม เตรียมการ และจัดการกับงานนั้นๆได้เลยขั้นต้น  ไม่ต้องรั้งรอให้หัวหน้างานผู้จัดการมาสั่ง ซึ่งอาจทำให้เหตุการณ์บานปลายหรือเสียหายมาก)
  2. ต้องการความช่วยเหลือจากทีมแก้ไขปัญหากรณีเหตุการณ์ฉุกเฉินในโรงงานและอาจต้องการอพยพคนออกจากโรงงาน
  3. ต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกอย่างเต็มที่ อาจต้องอพยพคนในพื้นที่ใกล้เคียงหรือทำการป้องกันอันตราย

** ไม่ใช่ทุกองค์กร/ทุกกรณี ต้องมี 3 ระดับนะครับ เช่น หากท่านมีสารเคมีที่ใช้น้อยนิด ก็ไม่เห็นต้องไปขอความช่วยเหลือจากใคร หากไม่ต้องขอจากใคร ก็มีฉุกเฉินแบบเล็กๆ กล่าวคือก็ทำให้มี ขั้นตอนการจัดการกับสารเคมีรั่วไหล ตามปกติที่ท่านมีครับผม

การจัดทำแผนกู้ภัยฉุกเฉินและการนำไปปฏิบัติ

แผนกู้ภัยฉุกเฉิน( Emergency response) ควรมุ่งเน้นว่าองค์กรต้องทำอะไรบ้าง ต้องตระเตรียมอะไรบ้าง ต้องมีวัสดุอุปกรณ์ อาคารสถานที่ ในการป้องกันการเกิดการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วย และลดผลกระทบต่อผู้ซึ่งประสบเหตุฉุกเฉินนั้น 

ขั้นตอนสำหรับการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินควรได้รับการจัดทำและพิจารณาถึงข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  ขั้นตอนสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ต้องกระชับและชัดเจนเพื่อใช้ในสถานการณ์ที่ฉุกเฉินได้ และต้องพร้อมเรียกหายามเกิดเหตุ  หากมีการเก็บเอกสารนี้ในคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อีเลขโทรนิคใดๆที่อาจเรียกใช้ไม่ได้ในกรณีที่ไฟฟ้าดับ  ต้องมีเอกสารชุดสำรองที่พร้อมให้หยิบใช้ในจุดปฏิบัติงาน

การวางแผนรับเหตุฉุกเฉินคือ การเตรียมรับสถานการณ์ที่ไม่อาจควบคุมได้ทันทีทันใดไว้ล่วงหน้า โดยอาศัยความร่วมมือจากสถานประกอบการใกล้เคียงและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง

ในการจัดทำแผน ต้องพิจารณาถึงการมีอยู่

  • ลักษณะและพื้นที่ของสถานประกอบการ
  • พื้นที่เสี่ยงภัย เช่น อาคารเก็บวัตถุไวไฟ เชื้อเพลิง เคมีภัณฑ์
  • บริเวณโดยรอบ เส้นทางจราจร
  • จำนวนพนักงานที่ปฏิบัติงานในแต่ช่วงเวลา
  • ความรู้พื้นฐานด้านการระงับเหตุฉุกเฉินของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ
  • ระบบดับเพลิง เครื่องมือ และ อุปกรณ์ฉุกเฉิน หน้ากาก เครื่องช่วยหายใจ ชุดปอ้งกันอันตรายจากสารเคมี ชุดผจญเพลิง
  • ตำแหน่งห้องสำคัญ ห้องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องสูบน้ำดับเพลิง ห้องควบคุมไฟฟ้าหลัก ห้องเก็บเอกสารสำคัญ
  • ระบบติดต่อสื่อสารในภาวะปกติและฉุกเฉิน
  • ทางออกฉุกเฉิน บันไดหนีไฟ
  • การทำงานของสัญญาณแจ้งเหตุ ระบบตรวจจับการรั่วไหลของก๊าซ ระบบดับเพลิง ระบบสนับสนุนอื่นๆ
  • จุดที่ตั้งอำนวยการชั่วคราว พื้นที่สำรอง แหล่งน้ำสำรอง
  • etc

เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือภัยธรรมชาติร้ายแรงในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ หรือหน่วยบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่นั้น ๆ มีไม่เพียงพอ หรือเอาไม่อยู่ ก็มักมีการขอความช่วยเหลือทั้งด้านกำลังบุคลากร และเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ จากพื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นพันธมิตรกันมาช่วยการบรรเทาทุกข์ในสถานการณ์เฉพาะหน้าไปก่อน ซึ่งหลักการนี้สามารถใช้ได้ทั้งการรับมือกับภัยพิบัติใหญ่ ๆ ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับประเทศ และในระดับนานาชาติซึ่งมีแนวโน้มเกิดมาก และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

หากองค์กรเลือกใช้องค์กรภายนอกในการกู้ภัยฉุกเฉิน เช่นการจัดการสารเคมีอันตราย หรือ ห้องปฏิบัติการภายนอก สัญญาจ้างต้องจัดให้มีไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่จำนวนพนักงานมีจำกัด หรือ มีข้อจำกัดด้านทักษะความสามารถ อุปกรณ์การกู้ภ้ย

ขั้นตอนการรับมือกับเหตุฉุกเฉิน  ควรมีการกำหนดบทบาท อำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบ ของผู้ที่มีหน้าที่ตอบสนองฉุกเฉินโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้ตอบสนองในทันที   พนักงานเหล่านี้ควรมีส่วนร่วมในการจัดทำขั้นตอนแผนฉุกเฉิน (s) เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาได้รับรู้ประเภทและขอบเขตของเหตุฉุกเฉินที่คาดหวังให้เขาจัดการ  เช่นเดียวกับการเตรียมการประสานงานต่างๆที่จำเป็น

พนักงานกลุ่มนี้ควรมีข้อมูลที่จำเป็น เพื่อให้สามารถอำนวยการกิจกรรมการตอบสนองกู้ภัยได้

 


 

ขั้นตอนการรับมือกับเหตุฉุกเฉิน ต้องพิจารณากำหนดอะไรบ้าง

  • แผนที่ขององค์กร ที่แสดงถึง

-       บริเวณที่เป็นอันตราย

-       บริเวณอาคารต่างๆ เช่น คลังสินค้า อาคารสำนักงาน เป็นต้น

-       เส้นทางออก

-       บริเวณที่สามารถเข้าถึงสถานที่เกิดเหตุได้ เช่น ทางทะเล ทางอากาศ ทางถนน

  • สภาพแวดล้อมภายนอกองค์กรที่มีความเสี่ยง เช่น สถานที่ข้างเคียง ภูมิประเทศ
  • บริเวณที่ติดตั้ง หรือจัดเก็บอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆที่จำเป็น เช่น อุปกรณ์ดับเพลิง สัญญาณเตือนภัย โทรศัพท์ อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
  • ข้อมูลสารเคมีและวัตถุอันตราย พิจารณาจาก

- ใบแสดงข้อมูลเคมีภัณฑ์เพื่อความปลอดภัย (Material Safety Data Sheet)

- ป้ายแสดงรายละเอียดของสารเคมีบนภาชนะบรรจุ

- ข้อมูลการระงับอุบัติภัยจากสารเคมีต่างๆ

 

- ระบุสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีโอกาสเกิด และสถานที่

- รายละเอียดของการดำเนินการจะต้องกระทำในกรณีฉุกเฉิน (รวมทั้งสิ่งที่ต้องกระทำโดยพนักงานที่ทำงานนอกสถานที่ ,ผู้รับเหมาและผู้เข้าชม),

- ขั้นตอนการอพยพ

- ความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ของบุคลากรเฉพาะ ที่มีหน้าที่ตอบสนองและบทบาทในช่วงเกิดภาวะฉุกเฉิน (เช่นเจ้าหน้าที่ผจญเพลิง , เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล และผู้เชี่ยวชาญการเก็บกวาดสารเคมีรั่วไหล),

- การสื่อสารในช่วงเกิดเหตุฉุกเฉิน

- การสื่อสารกับพนักงาน (ทั้งในและนอกสถานที่), หน่วยงานกำกับดูแลและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ (เช่นครอบครัว, ชุมชน, สื่อสารมวลชน),

- ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการตอบสนองฉุกเฉิน (ผังโรงงาน, ตำแหน่งของอุปกรณ์การตอบสนองฉุกเฉิน ,ประเภทและสถานที่ตั้งของวัสดุที่เป็นอันตราย, ตำแหน่งปิดเปิด สถานที่ของระบบยูทิลิตี้  ที่อยู่ติดต่อสำหรับผู้ให้บริการการตอบสนองฉุกเฉิน)

การเขียนแผนกู้ภัยฉุกเฉิน (Emergency Response Plan)

แผนกู้ภัยฉุกเฉินมีไว้สำหรับเหตุการณ์ที่รุนแรงหรือต้องการความร่วมมือจากบุคคลหรือหน่วยงานต่างๆมาช่วยกันแก้ไขเหตุการณ์ จึงต้องมีแผนเพื่อประสานวิธีการทำงานในการจัดการกับเหตุการณ์นั้น

วิธีการเขียนแผนจะเริ่มจากการประเมินเหตุการณ์ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดขึ้นและมีระดับความรุนแรงที่จะทำให้ต้องใช้แผนกู้ภัยฉุกเฉิน สำหรับเหตุการณ์ที่เล็กน้อยไม่รุนแรงที่ผู้พบเห็นเหตุการณ์หรือพนักงานทั่วไปสามารถระงับเหตุการณ์ได้ทันทีก็ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ในแผนฉุกเฉินแต่

คณะกรรมการฉุกเฉินตามแผนฉุกเฉิน อาจประกอบด้วย

  • ผู้บริหาร
  • ตัวแทนแต่ละหน่วยงาน
  • หน่วยปฐมพยาบาล
  • หน่วยกู้ภัย
  • หน่วยฟื้นฟู

การที่จะช่วยผู้ตกในอันตราย รักษาชีวิต ผู้บาดเจ็บได้ เมื่อวางแผนรับเหตุฉุกเฉิน ต้องมีการออกแบบอาคารให้ทนระเบิดหรือทนไฟ ห้องที่ควบคุมการผลิตต้องมีระยะห่างต้องมีการป้องกันภายในให้ปลอดภัยจากอันตรายร้ายแรง ต้องออกแบบทางหนีในอาคารติดตั้งสัญญาณอัตโนมัติทำให้เอื้ออำนวยต่อการอพยพและควบคุมเหตุการณ์ ต้องมีการให้ฝึกซ้อมรับเหตุเพื่อให้สามารถอพยพออกมาจากอาคารได้อย่างเป็นระเบียบไม่ตื่นกลัวไม่อลหม่าน ผู้รับเหมาผู้ติดต่อ การรอความช่วยเหลือจากทีมปฏิบัติการและกองดับเพลิง การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายสำหรับทีมปฏิบัติการที่เผชิญเหตุ ในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุฉุกเฉินการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ และการเคลื่อนย้าย การประสานงานแพทย์และโรงพยาบาลกรณีเกิดเหตุหมู่มาก การส่งต่อที่ราบรื่น ทั้งนี้ทั้งนั้นการวางแผนไว้ล่วงหน้าทำให้สามารถลด การเกิดอาคารถล่ม ห้องควบคุมการผลิตพังออกจากอาคารไม่ได้ การเหยียบกันระหว่างอพยพ การถูกทอดทิ้งเมื่อบาดเจ็บ การปฐมพยาบาลและการเคลื่อนย้ายที่ผิดวิธี การได้รับการช่วยเหลือจากราชการที่เชื่องช้า เป็นต้น

เริ่มเขียนอย่างไรดี

เริ่มโดยการทำการ สำรวจเพื่อการวางแผน โดยทำการ สำรวจอาคาร อันตรายและการป้องกัน, สำรวจหาแนวทางช่วยชีวิต เช่นทางหนีไฟ, สำรวจหาแนวทางระงับเหตุฉุกเฉิน เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ในการดับเพลิง, สำรวจหาสิ่งที่จะเพิ่มความรุนแรง เช่นกระบวนการที่อาจเกิดปฏิกิริยาต่อเนื่อง ขบวนการผลิตที่เป็นอันตราย

หลังจากทำการ สำรวจเสร็จ ให้ทำการร่างผัง

  • ตำแหน่งแผนผังสถานประกอบการ ซึ่งประกอบด้วย ตำแหน่ง ลักษณะอาคาร ทางเข้าทางออก ถนนที่ใช้
  • เส้นทางหนีไฟ บันไดหนีไฟ ทางเข้าออกในอาคาร ตำแหน่งลิฟต์หน้าต่าง
  • ตำแหน่งติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงระบบน้ำดับเพลิง
  • ตำแหน่งติดตั้งสัญญาณเตือนภัย
  • แหล่งเก็บอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ดับเพลิง รถดับเพลิง อุปกรณ์ปฐมพบาบาล
  • ตำแหน่งศูนย์ควบคุมเหตุฉุกเฉิน หน่วยปฐมพยาบาล
  • บริเวณที่มีเก็บสารเคมีมากๆ
  • ตำแหน่งที่ตั้งของสถานประกอบการณ์ภายนอกที่สัมพันธ์ที่จะขอความช่วยเหลือ

และจึงเริ่มเขียนแผนรับเหตุฉุกเฉิน

หัวข้อสำคัญที่จะต้องมีอยู่ในการเขียนแผนฉุกเฉิน

ควรต้องประกอบด้วยหัวข้ออย่างน้อยดังนี้

1.      ผู้รับผิดชอบในการเขียนและแก้ไขปรับปรุงแผน เราจำเป็นต้องระบุชื่อหรือตำแหน่งผู้รับผิดชอบไว้ในแผน เพื่อให้มั่นใจว่าแผนกู้ภัยได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยตลอดเวลา มิฉะนั้นเมื่อถึงคราวต้องใช้ อาจพบว่าบุคคลต่างๆที่อยู่ในแผนกู้ภัยนั้นได้ออกไปจากองค์กรแล้ว หรือ ระบบต่างๆภายในสถานที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอันมีผลกับแผนกู้ภัยที่ได้วางเอาไว้

2.      การเตือนภัยและการสื่อสารตามสายงาน (Notification & Communication) จำเป็นต้องระบุเนื่องจากอาจมีการลืมและข้ามขั้นตอนที่ถูกต้องจนมีผลให้การช่วยเหลือที่จำเป็นมาถึงล่าช้าหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดสนองตอบต่อการขอความช่วยเหลือโดยปราศจากการกลั่นกรอง

 

หลายปีที่ผ่านมาเกิดกรณีไฟไหม้โรงกลั่นน้ำมันซึ่งจำเป็นต้องใช้โฟมในการดับเพลิง โรงกลั่นน้ำมันแต่ละโรงจึงต้องสต็อกโฟมไว้ในปริมาณมากเพื่อรอใช้ในเหตุเพลิงไหม้ซึ่งไม่ค่อยจะเกิดขึ้นจนโฟมอาจหมดอายุการใช้งาน แต่หากเก็บโฟมไว้น้อยเกินไปก็จะไม่พอกับการใช้งาน โรงกลั่นแต่ละโรงในจังหวัดจึงแบ่งกันเก็บโฟมไว้ในปริมาณหนึ่ง และเมื่อโรงกลั่นโรงใดโรงหนึ่งเกิดเหตุเพลิงไหม้ โรงกลั่นที่เหลือก็ต้องรีบส่งโฟมที่ตนเก็บสำรองเอาไว้มาช่วยในการดับเพลิงก่อน

3.       การระดมพลและการกู้ภัย (Activation & Response)

เพื่อให้ทีมงานทราบถึงการเข้ารายงานตัวและการตระเตรียมตนเองเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ ควรมีข้อมูลที่สำคัญดังนี้

a.      แผนผังการบังคับบัญชาฉุกเฉิน (Emergency response org.)

b.      บทบาทและหน้าที่รับผิดชอบ (Roles & responsibilities)

c.      การร้องขอความช่วยเหลือ (Requesting assistance)

d.      ขั้นตอนและวิธีการรายงาน (Reporting procedure)

4.      ขั้นตอนการรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ (Response procedure)

เพื่อระบุถึงการประเมินเหตุการณ์ที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นและขั้นตอนการกู้ภัยในสถานการณ์ดังกล่าว

5.      ระบบสั่งการหรืออำนวยการ (Command System)

เพื่อให้ทราบถึงระบบการสั่งการและบทบาทของแต่ละหน่วยงานภายในผังแสดงสายบังคับบัญชาฉุกเฉิน (Emergency Response Organization) รวมถึงการประสานงานกับภาครัฐทำให้การผสมผสานการทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนในการกู้ภัยเป็นไปอย่างราบรื่นรวดเร็ว เพราะทุกคนจะเข้าใจในหน้าที่ของตนเองที่ได้รับมอบหมายมาและเข้าใจว่าหน่วยงานอื่นจะช่วยเหลืองานของตนอย่างไร

 

การบรรจุรายชื่อของทีมงานในแต่ละแผนต้องคิดเผื่อถึงในกรณีที่จำเป็นต้องใช้แผนรับมือกับเหตุการณ์ที่ต้องใช้

การบรรจุรายชื่อควรเตรียมกำลังคนสำรองในแต่ละตำแหน่งไว้ด้วยเพราะอาจเป็นไปได้ว่าขณะเกิดเหตุฉุกเฉิน บุคคลที่มีรายชื่อหลักอยู่ในทีมอาจไม่อยู่หรือติดต่อไม่ได้ ในบางองค์กรอาจมีบุคคลากรสำรองในตำแหน่งถึงสามรายชื่อเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ขาดบุคคลากรในขณะเกิดเหตุจำเป็น

 

 

รายละเอียดในหัวข้อนี้จะบอกถึงหน้าที่และบทบาทของแต่ละหน่วยงานในผังการบังคับบัญชารวมถึงรายละเอียดของงานที่ในแต่ละตำแหน่งต้องทำหรือตระเตรียมไว้

6.    วิธีการติดต่อและหมายเลขติดต่อกับสมาชิกของทีมกู้ภัย (Response Team member contact) รายชื่อของสมาชิกและหมายเลขติดต่อจะต้องได้รับการแก้ไขโดยผู้รับผิดชอบที่ระบุไว้ในข้อ 1 ทันทีที่มีการเปลี่ยนแปลง 

ข้อมูลของส่วนบริการที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลของส่วนบริการมีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้ทันที ดังนั้นควรรวบรวมและจัดทำให้อ่านง่ายพร้อมใช้งานได้ทันที โดยทั่วไปข้อมูลประกอบด้วย ชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ผู้ที่จะติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือ

7.    รายการอุปกรณ์กู้ภัยที่มีอยู่ (Equipment list)

นอกเหนือจากอุปกรณ์ที่เรามีแล้ว เราควรระบุถึงอุปกรณ์ที่เราสามารถขอยืมมาใช้ได้ทันทีจากองค์กรอื่นๆที่มีสัญญาผูกพันต่อกันด้วย รายการเครื่องมีอจะช่วยให้เราสามารถประเมินได้ว่าหากเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงแล้วเราจะสามารถหาอุปกรณ์ที่ต้องการในเวลาฉุกเฉินได้หรือไม่และจากที่ใด หากประเมินแล้วพบว่ามีไม่พอหรือหาจากองค์กรอื่นไม่ได้ ก็ต้องทำการจัดซื้อจัดหาเพื่อบรรจุเข้าไว้ในรายการอุปกรณ์กู้ภัยที่จำเป็น

 

8. รายละเอียดการดำเนินการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ต่างกัน

การปฏิบัติการแก้ไขภาวะฉุกเฉินขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและระดับความรุนแรงของสถานการณ์ ซึ่งผู้อำนวยการตามแผนมีหน้าที่ตัดสินใจสั่งการตามข้อมูลที่ได้รับ เพื่อตัดสินว่าควรดำเนินการอย่างไรกับสถานการณ์ดังกล่าว ดังนั้นแผนฉุกเฉินจึงต้องวางแนวทางการปฏิบัติให้ชัดเจนในแต่ละสถานการณ์และระดับความรุนแรง โดยกำหนดแผนงานบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น พร้อมวิธีปฏิบัติในการตอบโต้ สถานการณ์ของผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามโครงสร้างอำนาจหน้าที่และการประสานงานระหว่างกัน

 

อุปกรณ์กู้ภัย

องค์กรควรพิจารณาและทบทวน อุปกรณ์และอุปกรณ์ป้องกันและระงับเหตุในกรณีฉุกเฉินและวัสดุที่ต้องการ

อุปกรณ์การตอบสนองเหตุฉุกเฉินและวัสดุ ที่อาจจำเป็นในการดำเนินการระหว่างเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ใช้ในการอพยพ ,ใช้สำหรับการตรวจสอบการรั่วไหล ,ถังดับเพลิง, อุปกรณ์ตรวจสอบ สารเคมี / ชีวภาพ / รังสี , อุปกรณ์ป้องกันและชุดป้องกันการปนเปื้อน และอุปกรณ์ทางการแพทย์

อุปกรณ์การตอบสนองฉุกเฉินควรมีอยู่ในปริมาณที่เพียงพอและเก็บไว้ในสถานที่ที่สามารถเข้าถึงได้สะดวก ต้องมีการเก็บไว้อย่างปลอดภัยและได้รับป้องกันจากการเสื่อมเสีย  อุปกรณ์เหล่านี้ต้องได้รับการตรวจสอบและ/หรือการทดสอบตามช่างเวลาปกติ เพื่อให้แน่ใจว่า จะใช้งานได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับอุปกรณ์และวัสดุ ที่ใช้เพื่อปกป้องบุคลากรที่ดำเนินการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน  และต้องแจ้งข้อจำกัด ของอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และให้การฝึกอบรมในการใช้ให้

สถานที่ ประเภท ปริมาณและพื้นที่การเก็บรักษา (s) สำหรับอุปกรณ์ฉุกเฉิน ต้องได้รับการประเมินระหว่างการทบทวนและทดสอบขั้นตอนฉุกเฉิน

 

OHSAS 18001:2007

องค์กรต้องทดสอบขั้นตอนการดำเนินงานสำหรับตอบโต้ภาวะฉุกเฉินตามช่วงเวลาที่กำหนด, เท่าที่ประยุกต์ได้, ให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมตามความเหมาะสม.

 

 

 

 

 

แผนการฝึกอบรมและการฝึกซ้อม

 

การฝึกอบรมและการฝึกซ้อมจะต้องทบทวนและซักซ้อมกันอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละครั้งเพื่อหาข้อบกพร่องและเป็นการช่วยทำให้ทีมงานมีความเข้าใจในบทบาทของตัวเองมากขึ้น

ให้เกิดความคุ้นเคย กับโครงสร้างอาคาร ทางหนีไฟ สถานที่เก็บ สถานที่แจ้งเหตุ สถานที่สะสมสารอันตราย แหล่งน้ำ

พนักงานควรได้รับการอบรมว่าจะเริ่มต้นในการตอบโต้กับเหตุการฉุกเฉินตามขั้นตอนที่กำหนดได้อย่างไร โดยกำหนดหัวข้ออบรมให้กับพนักงานที่ซึ่งได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ในการตอบโต้เหตุฉุกเฉินและมีระบบตรวจสอบว่าได้มีการกระทำการอย่างเคร่งครัดมั่นใจได้ว่าได้มีการอบรมครบถ้วนจริง พนักงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้มีคุณวุฒิและสามารถที่จะทำงานตามภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย

 

หลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับภาวะฉุกเฉิน ควรมีลักษณะที่ สอดคล้องกับสถานการณ์ของภาวะฉุกเฉินที่มีโอกาสเกิดขึ้นจริง, จำลองสถานการณ์จริงที่อาจเกิดขึ้น , สามารถดำเนินการต่อภาวะฉุกเฉินได้จริง

 

การทำการฝึกซ้อมอาจต้องทำทันทีในกรณีที่

  • เริ่มนำแผนมาใช้
  • มีผู้ปฏิบัติงานใหม่ๆมาเป็นจำนวนมาก
  • มีเครื่องมืออุปกรณ์ใหม่ๆ
  • มีการทบทวนและปรับปรุงขั้นตอนให้ทันสมัย
  • เมือฝึกซ้อมแล้วพบว่ามีข้อบกพร่องจำนวนมาก

ข้อกำหนดที่ระบุความจำเป็นในการอบรมซ้ำและการสื่อสารตอกย้ำกิจกรรมต่างๆควรมีการพิจารณาจัดให้มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใดๆที่มีผลกระทบต่อแผนฉุกเฉินนี้

 

การฝึกซ้อม

การทดสอบการกระทำตามแผนฉุกเฉินควรได้รับการดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่า องค์กรและผู้ให้บริการฉุกเฉินภายนอก จะสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน และป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบที่เกี่ยวข้อง OH &S ได้

 

การฝึกซ้อมควรทำให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด โดยต้องทดสอบการใช้งานของอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งการติดต่อหน่วยงานอื่นๆอย่างจริงจัง เพื่อหาข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นเช่น หมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ไม่เหมาะสมหรือไม่สะดวกในการติดต่อ เพราะอาจเป็นหมายเลขที่เปลี่ยนไปใช้เป็นหมายเลขแฟ็กซ์แทน

ทุกครั้งที่มีการฝึกซ้อมจะต้องมีการประเมินผลเพื่อหาช่องวางที่จะปรับปรุงพัฒนาแผนและทีมงานให้ดีขึ้น การประเมินจะต้องมีทั้งการชมเชยและระบุถึงช่องว่างที่ควรปรับปรุง

ประเด็นคือ เราจะตอบโต้ได้เร็วพอไหม ทันทีไหม พร้อมไหม

การฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินนี้ ควรกระทำร่วมกับผู้ให้บริการภายนอกที่ให้บริการฉุกเฉิน เพื่อปรับปรุงการสื่อสารระหว่างกันและสามารถให้ความร่วมมือระหว่างเกิดเหตุฉุกเฉินหากเกิดขึ้นจริงได้

การฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินสามารถใช้ในการประเมิน ขั้นตอนแผนฉุกเฉินและอุปกรณ์ และการฝึกอบรม รวมทั้งเพิ่มความตระหนักของการตอบสนองฉุกเฉิน  บุคคลภายใน (คนงาน) และบุคคลภายนอก (เช่น เจ้าหน้าที่ดับเพลิงภายนอก) สามารถรวมอยู่ในการฝึกซ้อมเพื่อเพิ่มความตระหนักและความเข้าใจของวิธีการรับมือกับเหตุฉุกเฉิน

องค์กรควรเก็บรักษาบันทึกของการฝึกซ้อมเหตุฉุกเฉิน ประเภทของข้อมูลที่จะถูกบันทึกไว้รวมถึงรายละเอียดของสถานการณ์และขอบเขต เหตุการณ์และการกระทำ และผลสำเร็จที่สำคัญหรือปัญหาใด ๆ ควรได้รับการทบทวนกับผู้วางแผนฉุกเฉินและผู้เข้าร่วมการฝึกซ้อม เพื่อแบ่งปันความคิดเห็นและคำแนะนำในการปรับปรุง

หมายเหตุ OHSAS 18001:2007, 4.4.7 ระบุว่าขั้นตอนการรับมือกับเหตุฉุกเฉินจะต้องทดสอบเป็นระยะ ๆ "ที่สามารถปฎิบัติได้" ซึ่งหมายความว่าการทดสอบดังกล่าวจะต้องมีการดำเนินการ หากมีความสามารถในการทำ

 

 

องค์กรต้องทบทวนและ, หากจำเป็น,ปรับปรุงขั้นตอนปฏิบัติสำหรับการเตรียมความพร้อมและการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินตามช่วงเวลาที่กำหนด, โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการทดสอบ และหลังการเกิดภาวะฉุกเฉิน (ดู 4.5.3).

 

ซ้อมไปทำไม

วัตถุประสงค์ หรือผลที่ต้องการจากการทดสอบหรือการฝึกซ้อม เพื่อ

  1. เพื่อเกิดความคุ้นเคย ในอาคาร สถานที่ ทางหนีไฟ อุปกรณ์ สถานที่ตั้งอุปกรณ์รับเหตุฉุกเฉิน วิธีการแจ้งเหตุ พื้นที่สะสมเก็บสารเคมี แหล่งน้ำ
  2. เพื่อเข้าใจในระบบการสื่อสารขณะเกิดเหตุ
  3. คุ้นเคยกับบทบาทหน้าที่ของตนเอง การใช้เครื่องมือและการปฏิบัติตามขั้นตอน
  4. มีประสบการณ์ เกิดความเชื่อมั่น มีทักษะ สามารถระงับเหตุได้เร็ว
  5. บุคลากรนอกใน ประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ
  6. มีการพิสูจน์ความถูกต้องในรายละเอียดของแผนเช่น เบอร์โทรศัพท์ ประสิทธิภาพของเครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ดับเพลิง

เมื่อเหตุผลแห่งการทดสอบฝึกซ้อมเป็นเช่นนี้  วิธีการในการฝึกซ้อม รายละเอียดในฝึกซ้อม รวมทั้งการประเมินผลจะฝึกซ้อมจะสอดคล้องตามผลที่ต้องการ  เราสามารถฝึกซ้อมการใช้เครื่องมือรับเหตุแต่ละชนิด ซ้อมการอพยพ ซ้อมการหยุดเครื่องจักร ซ้อมการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ซ่อมการปฐมบาบาล ทดสอบสัญญาณแจ้งเหตุเตือนภัย เป็นต้น

การทบทวนแผนการเตรียมความพร้อม ทำได้ตอนไหน?

การทบทวนแผนการเตรียมความพร้อมในกรณีฉุกเฉินและขั้นตอนการตอบสนอง ทำได้โดย

  • ตามตารางเวลา ที่กำหนดเองโดยองค์กร,
  • ระหว่างทบทวนฝ่ายบริหาร,
  • เมื่อมีการเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร
  • เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่อาจมีผลกระทบ ( Plant layout , location, process, machine) และ  การดำเนินการแก้ไขหรือดำเนินการป้องกัน
  • หลังจากเหตุการณ์ฝึกซ้อมขั้นตอนการรับมือกับเหตุฉุกเฉิน  - ข้อบกพร่องในการตอบสนองฉุกเฉิน
  • การเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดทางกฎหมายและอื่น ๆ
  • การเปลี่ยนแปลงภายนอก ที่ส่งผลกระทบต่อการตอบสนองฉุกเฉิน

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในการเตรียมความพร้อมในกรณีฉุกเฉินและการตอบสนองขั้นตอน (s) เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ควรจะมีการสื่อสารให้กับบุคลากรทีมีหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง  ความต้องการฝึกอบรมอาจต้องมีการประเมินเพื่อปรับเปลี่ยน

หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น การรายงานและการสอบสวนเป็นสิ่งที่ต้องกระทำหลังจากประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉิน การรายงานนี้เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่มีส่วนร่วมโดยแต่ละส่วนงานแยกกัน ตั้งแต่เมื่อได้รับทราบ การตอบโต้เหตู จนเหตุการณ์สงบ รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน การส่งรายงานไปยังภาครัฐ และบริษัทประกันภัย  โดยปกติหากเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นรุนแรง จะเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเช่น ตำรวจท้องที่ กองความปลอดภัย กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน

 

 

OHSAS 18001 : 2007

องค์กรต้องตอบโต้ภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้น และ ป้องกันหรือบรรเทาผลเสียหายด้านOH&Sที่จะเกิดขึ้นตามมา.

ในการวางแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน องค์กรต้องพิจารณาถึงความจำเป็นกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง, เช่น ด้านความช่วยเหลือฉุกเฉิน และชุมชนอาศัยโดยรอบ.

 

แผนการฟื้นฟูวิกฤตของอุบัติการณ์

 

แผนการฟื้นฟูวิกฤตของอุบัติการณ์ควรได้รับการจัดรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนฉุกเฉินเพื่อ ช่วยในการฟื้นฟู ลูกจ้าง อาคาร เครื่องจักร วิธีในการเริ่มดำเนินการผลิต และอุปกรณ์ เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้หลังจากเหตุการณ์ยุติลง

 

ลูกจ้างที่ช่วยในแผนการฟื้นฟูวิกฤตของอุบัติการณ์ควรเป็นผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับอุบัติการณ์ เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ให้กลับเป็นปกติจนสามารถเข้าทำงานได้และใช้เวลาไม่นาน

 

แผนการฟื้นฟูวิกฤตของอุบัติการณ์ ควรครอบคลุม

-       หน้าที่ความรับผิดชอบ รวมถึงการประสานงานระหว่างองค์กร

-       การสอบถามเกี่ยวกับการบาดเจ็บ และการสอบสวนอุบัติเหตุ

-       การสอบถามเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจของลูกจ้างและบุคคลอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุบัติการณ์

-       การให้คำแนะนำปรึกษา

-       ข้อกำหนดทางกฎหมายและบริษัทประกันภัย

 

 

 

 

นอกจากไฟไหม้ แล้วมีอะไรที่มักพิจารณาเป็นเหตุฉุกเฉิน

 

เหตุฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นได้นั้นมีอยู่มากมายหลายเหตุการณ์ด้วยกัน อาทิเช่น การบาดเจ็บของบุคคล อัคคีภัย ระเบิด สารเคมีหกล้นรั่วไหล ก๊าซพิษรั่ว การทำร้ายร่างกาย หรืออุบัติภัยทางธรรมชาติ เช่น พายุ น้ำท่วม ตลอดจนอุบัติภัยที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ เช่น จลาจลและการก่อการร้าย เป็นต้น การที่มีการคาดการณ์เหตุฉุกเฉินต่างๆ ไว้ล่วงหน้าและมีการวางแผนการตอบสนองเหตุไว้ก็จะสามารถช่วยลดระดับการบาดเจ็บลงไปได้มากและยังทำให้ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่อุปกรณ์ วัสดุและทรัพย์สินต่างๆ ก็ลดน้อยลงไป

 

สถานการณ์ที่ควรคำนึงถึง

  • การเกิดอุบัติการณ์ใดๆก็ตาม ที่อาจก่อให้เกิดการเสียชีวิต บาดเจ็บ เจ็บป่วยอย่างรุนแรง

การวางแผนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการจัดการอาชีวะอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งรวมถึงแผนฉุกเฉินนี้ด้วย 

 

จำไว้ว่าการวางแผนคือ Prevention และ Preparedness !   เพราะเราจัดการได้เฉพาะสิ่งที่เราคาดการณ์วางแผนได้เท่านั้น หากสิ่งนั้นเหนือการคาดการณ์หรือเกิดไม่ตรงกับสถานการณ์ที่คาดการณ์ไว้ เราไม่อาจจัดทำแผนได้!! เพียงแต่วัดดวงกับสิ่งที่เราได้ตระเตรียมความพร้อม คนที่ได้ตระเตรียม วัสดุอุปกรณ์ที่ได้เตรียมการ วิธีที่จัดวาง เป็นต้น

ไฟไหม้ / เครื่องจักรระเบิด /สารเคมีเกิดปฏิกิริยา

  • สารเคมีหกล้น / การรั่วไหลของสารเคมีอันตราย หรือ ก๊าซ
  • ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกเช่น ไฟดับ หรือน้ำหล่อเย็นขาด ที่ทำให้กระบวนการเกิดเหตุฉุกเฉินนอกแผนงานปกติ
  • อุบัติเหตุจากการขนส่ง ขนถ่ายวัตถุดิบ ผลิต ผลิตภัณฑ์ที่เป็นพิษหรือไวไฟ
    • การก่อวินาศกรรม การก่อจลาจล การขู่วางระเบิด
    • การเกิดเหตุภัยพิบัติตามธรรมชาติหรือสภาพอากาศอันเลวร้าย
    • เกิดการทำร้ายร่างกาย ก่อจารจล ก่อการร้าย
    • เกิดการแพร่เชื้อโรคร้าย
    • เครื่องจักรหลักเกิดล้มเหลว ระเบิด เสียหาย
    • อุบัติเหตุจากการเดินทาง

 

ต้องระบุพื้นที่ ที่คาดว่าจะเกิดเหตุไหม

 

ท่านระบุเหตุฉุกเฉินเพื่อจัดการ การกำหนดว่าเหตุการณ์นั้นๆจะเกิดที่พื้นที่ใด จะทำให้ท่านรู้ว่าจะอบรมคนใด วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องจัดเตรียมการไว้ที่ไหน ผังอาคารที่ต้องมี  รายการเครื่องจักร อุปกรณ์ การติดตั้งสัญญาณ การตรวจสอบความปลอดภัยต้องเน้นเรื่องอะไรที่พื้นที่ไหน  มากกว่านั้นจะทำให้ท่านรู้ว่าอะไรบ้าง พื้นที่ไหนบ้าง ที่ต้องซักซ้อม เมื่อมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอาคารสถานที่ ก็จะได้รู้ว่าต้องมีการมาปรับแผนฉุกเฉินอย่างไร

 

เหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น

พื้นที่ที่อาจเกิดเหตุฉุกเฉิน

  • ช่างตกจากที่สูง / เครื่องจักรหนีบมือ / รถขนส่งคว่ำ /เครนล่วง / ความดันในหม้อไอน้ำเกิน /น้ำหล่อเย็นแห้ง / ถังไซโลล้มทับ
  • ไฟไหม้ การระเบิด
  • ก๊าซรั่ว หก
  • อุบัติภัยทางธรรมชาติ- ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว น้ำท่วม สภาพอากาศที่เลวร้าย
  • งานล้มเหลว เครื่องจักรหรือโครงสร้างเสียหาย
  • ไฟฟ้าดับ ไฟตก ไฟกระพริบ ก๊าซหมด
  • การชนกัน
  • การก่อการร้าย การจับเป็นตัวประกัน
  • พื้นที่ผลิต
  • ซ่อมบำรุง
  • บริเวณเก็บสารเคมีอันตราย
  • บริเวณเก็บกากของเสียอันตราย
  • ถังเก็บน้ำมัน เชื้อเพลิง สารเคมีขนาดใหญ่
  • กระบวนการเริ่มเดินเครื่องจักรและหยุดเครื่องจักร
  • ภาชนะอัดความดันสูง
  • รางหรือถนนลำเรียงวัสดุ
  • จุดรับส่งสินค้าขึ้นลงจากยานพาหนะ
  • โรงบำบัดกากของเสียและจุดปล่อยของเสีย
  • รางระบายน้ำฝน
 

 

อะไรคือการวางแผนรับเหตุฉุกเฉิน

เป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้า เพื่อ ระงับเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกินกำลังความสามารถของเจ้าหน้าที่หรือพนักงานคนใดคนหนึ่งที่จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทันทีและต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่นหรือหน่วยงานอื่นๆ จึงจำเป็นต้องมีการจัดองค์กรรับเหตุฉุกเฉิน เพื่อกำหนดผู้รับผิดชอบในด้านต่างๆตามแผนฉุกเฉินที่วางไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจะได้ปฏิบัติการตามบทบาทหน้าที่ของตนได้อย่างทันท่วงทีและไม่สับสน ตลอดจนประสานงานกับสถานประกอบการใกล้เคียงและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง

 

แผนฉุกเฉินต่างจากมาตรฐานการปฏิบัติงานความปลอดภัยทั่วไปอย่างไร

 

เหตฉุกเฉินเป็นการทำงานในภาวะไม่ปกติ เกิดกะทันหัน ต้องการได้รับการจัดการเร่งด่วนแก้ไขทันที ซึ่งเหตุฉุกเฉินนี้แยกเป็นสองประเภทคือ เหตุฉุกเฉินที่คาดการณ์ได้ กับ เหตุฉุกเฉินที่ไม่อาจคาดการณ์ได้

 

เหตุฉุกเฉินที่คาดคะเนได้

เนื่องจากสามารถคาดคะเนได้ เราจึงควรจัดทำมาตรฐานพื้นฐานเพื่อความปลอดภัยไว้ล่วงหน้า รวมถึงการฝึกฝนปฏิบัติอยู่เสมอ จะทำให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม สำหรับงานฉุกเฉินที่คาดคะเนได้ล่วงหน้า

สิ่งที่ต้องกระทำในงานฉุกเฉินเป็นงานที่มีความถี่ในการเกิดต่ำมาก และเมื่อเกิดเหตุผิดปกติก็มักไม่ตรงที่คาดการณ์หรือไม่สามารถจดจำได้  แผนรายละเอียดต่างๆก็จะไม่มีประโยชน์  ด้วยเหตุนี้มาตรฐานจึงเน้นในการปฏิบัติงาน ให้สามารถตอบสนองรองรับเหตุให้จงได้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นกว่า

การเขียนมาตรฐานการปฏิบัติในภาวะฉุกเฉินจึงเขียน เฉพาะจุดเน้นประเด็นสำคัญ เลือกหัวข้อไม่ต้องมาก ง่ายกระชับ ชัดเจน สิ่งที่ต้องกระทำภายใต้มาตรฐานในการทำงานนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของความรุนแรงและความเสียหายหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น  

 

เหตุฉุกเฉินที่มิอาจคาดคะเนได้

หากคาดคะเนไม่ได้ จะทำให้ไม่สามารถกำหนเกณฑ์พื้นฐานในการทำงานล่วงหน้าได้ และไม่มีเวลาพอในการอบรมก่อนทำงานจริง หรือไม่สามารถที่จะใช้ในการแจ้งบอกพนักงานถึงจุดสำคัญได้  ด้วยเหตุผลนี้เขาต้องฟังคำสั่งจากหัวหน้างานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงควรกำหนดเพียงแต่ว่า ใครรับผิดชอบสั่งการอะไร และผู้สั่งการนี้ต้องได้รับการฝึกมาตรฐานการคำสั่งปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินเป็นอย่างดี   และแผนตอบโต้เหตุฉุกเฉินชนิดนี้จะเป็นแผนที่ท่านสามารถค้นหาโดยกูเกิ้ลได้อย่างง่ายดาย

 

ลักษณะของการปฏิบัติงาน

ลักษณะงาน

การปฏิบัติงานที่มีลักษณะประจำ

เป็นการทำงานด้วยวิธีที่เหมือนๆกัน หรืองานประจำวันที่ซ้ำไปซ้ำมา มีความถี่มากกว่าหนึ่งครั้งในระยะเวลา 10 วัน

การปฏิบัติงานที่มีลักษณะไม่ประจำ

เป็นการทำงานที่ไม่ประจำเชิงแผนงาน

มีการทำงานซ้ำไปซ้ำมาแต่มีการปฏิบัติที่มีความถี่ต่ำกว่า

หรือมีการปฏิบัติงานที่ผิดแผกไปจากปกติที่กำหนดไว้แน่นอน

มีความถี่น้อยกว่าหนึ่งครั้งในระยะเวลา 10 วัน

(การทดสอบการเดินเครื่อง การซ๋อมแซมเครื่องจักร การตรวจสอบถอดรื้อตามรอบเวลา งานก่อสร้างที่เปลี่ยนแบบตามโครงการไปเรื่อยๆ)

 

ความถี่ ในการทำกิจกรรมนั้นส่งผลต่อรูปแบบมาตรฐานการปฏิบัติงานและความเคยชินและการจดจำของผู้ปฏิบัติงาน

การปฏิบัติการฉุกเฉิน

การทำงานในภาวะไม่ปกติที่เกิดกะทันหัน ต้องการได้รับการจัดการเร่งด่วนแก้ไขทันที ซึ่งมี 2 ประเภท คือ คาดการณ์ได้กับคาดการณ์ไม่ได้


Share

Online

มี 51 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์