หัวใจของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม iso 14001คือการระบุ ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสำคัญ(Significant environmental aspects) หากระบุถูกต้องระบบems จะช่วยท่านในการทำให้องค์กรได้รับประโยชน์ หากระบุผิดพลาดท่านจะไม่ได้อะไรนอกจาก ......
มาตรฐาน ISO14001 ระบุข้อกำหนดในเรื่องนี้ว่า :
4.3 การวางแผน
4.3.1 ประเด็นสิ่งแวดล้อม
องค์กรต้องจัดทำ นำไปปฏิบัติ และธำรงรักษาไว้ซึ่งขั้นตอนปฏิบัติ
a) เพื่อระบุประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการภายใต้ขอบเขตของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กร ทั้งในส่วนประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่องค์กรสามารถควบคุมได้ และในส่วนประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่องค์กรสามารถผลักดันนำไปสู่ การวางแผน การปรับปรุง การปรับเปลี่ยน หรือจัดให้มีขึ้นใหม่ของ กิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการ
b) เพื่อกำหนดประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีหรือสามารถมีผลกระทบที่มีนัยสำคัญ (significant impact(s)) ต่อสิ่งแวดล้อม (เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสำคัญ)
องค์กรต้องจัดทำข้อมูลเหล่านี้ในรูปเอกสารและจัดทำให้ทันสมัยอยู่เสมอ
องค์กร ยังต้องทำให้มั่นใจว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสำคัญ(Significant environmental aspects) ถูกนำมาพิจารณาในการระหว่างการจัดทำ การนำไปปฏิบัติ และการคงรักษาไว้ซึ่งระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
ข้อสังเกตุ
ISO 14001 ใช้คำว่าประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม (environmental aspect) เมื่อหมายถึงสิ่งใดก็ตามที่เกิดจากกิจกรรมและผลผลิตหรือบริการขององค์กรที่ อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
กิจกรรมหมายถึงอะไรก็ตามที่องค์กรนั้น กระทำในการประกอบการ ผลิตภัณฑ์คือสิ่งที่ได้จากกระบวนการผลิต บริการคือกิจกรรมที่ทำเพื่อสนับสนุนการผลิต
ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาจเป็นด้านบวกหรือด้านลบก็ได้ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ สำคัญ(Significant environmental aspects) หมายถึงประเด็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากหรือมีศักยภาพที่จะ ส่งผลกระทบรุนแรงผลกระทบสิ่งแวดล้อมหมายรวมถึงผลกระทบต่อ อากาศ น้ำ (น้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน) ที่ดิน พืช สัตว์ป่า ชุมชน วัฒนธรรมประเพณี ความงดงามทางธรรมชาติ การนันทนาการและปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเหล่านี้
ผลกระทบอาจเกิดเป็นฤดูกาล เกิดในระดับท้องถิ่น ระดับภาคหรือระดับทั่วโลกก็ได้ (เช่น ฝนกรด สารทำลายโอโซน ผลกระทบต่อบริเวณท้ายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา)
การระบุประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบ
เมื่อจะทำการระบุและประเมินความสำคัญของปัญหา สิ่งแวดล้อม ต้องพิจารณาองค์ประกอบทั้งหมดในการปฏิบัติงานของบริษัท มิใช่พิจารณาแต่กิจกรรมการผลิตเท่านั้น ตัวอย่างเช่น บริษัทส่วนใหญ่จะมีสำนักงาน โรงอาหาร และลานจอดรถซึ่งทั้งหมดนี้อาจสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการทิ้งหรือปล่อย ของเสีย ในการระบุประเด็นปัญหาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้นับรวมการขนส่งวัตถุดิบไป ยังหน่วยการผลิตและการขนส่งผลิตภัณฑ์และกากของเสียจากหน่วยการผลิตด้วยเสมอ ถังเก็บสารเคมีและเชื้อเพลิง กิจกรรมของห้องปฏิบัติการ การจัดซื้อและคลังสินค้า การซ่อมบำรุง (เช่น การเชื่อม การซ่อมยานพาหนะ การก่อสร้าง การทาสี เป็นต้น) การออกแบบวิจัยและวิศวกรรม งานบริการรักษาความปลอดภัย การตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน (เช่น ไฟไหม้ สารเคมีรั่วไหล ก๊าซรั่ว ภัยธรรมชาติ) สภาพการณ์อื่นที่ไม่ปกติ เช่น ในระหว่างการเริ่มและการหยุดกระบวนการผลิต และกิจกรรมต่างๆจากผู้รับเหมาและผู้ขายสินค้าล้วนแล้วแต่มีประเด็นปัญหาด้าน สิ่งแวดล้อมทั้งที่ก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงและมีศักยภาพที่ก่อให้เกิดผล กระทบได้
มีหลายเทคนิคที่สามารถนำมาใช้ในการรวบรวมประเด็นปัญหาและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของบริษัท โดยปกติแล้ววิธีที่ดีที่สุดคือการระดมความคิดของบุคลากรจากหลายๆหน่วยงาน แม้แต่บุคคลที่อยู่ในหน่วยงานหรือปฏิบัติงานในที่ที่ไม่มีใครสนใจก็สามารถ ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญอาจจะมองข้ามไป ประเด็นปัญหาและผลกระทบสิ่งแวดล้อมควรครอบคลุมทุกกิจกรรม สินค้าและบริการของบริษัท
ทำไมต้องระบุประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม
การระบุประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นงานแรกที่ ต้องทำในขั้นตอนการวางแผนงานของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการตัดสินใจว่าจะควบคุมประเด็นปัญหาที่สำคัญที่สุดอย่างไรนั้นเป็น สิ่งสำคัญลำดับแรกในช่วงเริ่มต้นของงานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ระบบ ISO 14001 ต้องการให้องค์กรจัดทำวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมเพื่อให้แก้ไข ปัญหาที่สำคัญ ดังนั้นการรวบรวมประเด็นปัญหาอย่างครอบคลุมและเป็นระบบ และวิธีการกำหนดลำดับความสำคัญเป็นขั้นตอนแรกที่จำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมาย นี้ การควบคุมการปฏิบัติงาน เช่น เครื่องมือ การซ่อมบำรุง ขั้นตอนการปฏิบัติงาน เทคนิคและเทคโนโลยีการลดมลพิษต้องมุ่งเน้นไปที่ปัญหาที่มีความเสี่ยงสูงที่ สุด (ปัญหาที่สำคัญที่สุด) และการฝึกอบรมบุคคลเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะที่จำเป็นในการควบคุมกระบวน การและการตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ ขึ้นอยู่กับการกำหนดความสำคัญของประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้อง
การแปลความหมายของข้อกำหนด ISO 14001
ในข้อกำหนดของ ISO14001 มีคำที่ใช้อยู่เสมอดังนี้
• การจัดทำ (Establish) ใน ISO หมายถึง การพัฒนา การดำเนินการ การจัดทำขึ้น
• การคงไว้ (Maintain) หมายถึง ทำให้ทันสมัย ตรงประเด็น และถูกต้อง
• ขั้นตอนการปฏิบัติงาน (Procedure) หมายถึง ลำดับของการกระทำที่ต้องการเพื่อทำให้งานสำเร็จอย่างได้ผลและสม่ำเสมอ (ขั้นตอนการปฏิบัติงานบางขั้นตอนของ ISO14001 ต้องจัดทำเป็นเอกสาร)
• การจัดทำเป็นเอกสาร (Documented) หมายถึง การเขียนลงบนกระดาษหรือลงในสื่ออิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้องค์กรยังต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่องค์กรควบคุมได้ ซึ่งหมายถึงการดำเนินงานที่การจัดการของบริษัทจะส่งผลในทางใดทางหนึ่ง ตัวอย่างเช่น การจัดการมีการควบคุมในเรื่อง :
• การออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต
• การเลือกเครื่องมือและสถานที่ติดตั้ง
• แหล่งวัตถุดิบ
• การปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อม
• การเลือกผู้รับเหมาและผู้ขายสินค้า
• วิธีการลดของเสียที่เกิดขึ้นหรือของเสียที่ต้องนำไปกำจัด
• ใช้วัสดุและสิ่งของที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
การจัดการอาจจะไม่สามารถควบคุมได้โดยตรง แต่สามารถผลักดันได้โดย :
• ให้ผู้รับเหมาช่วงหรือ ซัพพลายเออร์ มีระบบจัดการสิ่งแวดล้อม
• กำหนดข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมให้ผู้รับเหมาช่วงหรือ ซัพพลายเออร์ ปฏิบัติ
การประเมินความเสี่ยงหรือนัยสำคัญ (Assessment of Risk or Significant)
มีเทคนิคจำนวนมากสำหรับนำมาใช้ในการประเมินความเสี่ยงเพื่อหานัยสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยทั่วไปวิธีที่ง่ายคือวิธีที่ดีที่สุด
นิยามพื้นฐานของความเสี่ยงคือ
ความเสี่ยง = ความน่าจะเป็น x ผลที่เกิดขึ้น
หรืออีกนัยหนึ่ง
นัยสำคัญ = ความถี่ x ขนาดของผลกระทบ
ผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (ขนาด/ความรุนแรง) (consequence (Magnitude/ Severity) of Occurrence)
ใช้คะแนน 1 ถึง 5 เป็นค่าประเมินขนาดหรือความรุนแรงของผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยจาก แต่ละประเด็นปัญหา ( 1 เป็นระดับที่มีผลกระทบต่ำ 5 เป็นระดับที่มีผลกระทบรุนแรง) การให้คะแนนอาจใช้ความเห็นส่วนบุคคลซึ่งจะขึ้นอยู่กับความรู้หรือวิจารณญาณ ของผู้ให้คะแนนซึ่งเป็นตัวแทนจากแผนกต่างๆที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังประเมินผลกระทบในด้านกฎหมาย ธุรกิจ และการเงินด้วยโดยใช้ระดับคะแนนทำนองเดียวกัน (กล่าวคือ 1 เป็นความเสียหายจากการละเมิดข้อกฎหมายและเสียค่าใช้จ่ายในระดับต่ำ 5 เป็นระดับที่เกิดความเสียหายรุนแรงจากการฝ่าฝืนกฎหมายและองค์กรต้องเสียค่า ใช้จ่ายสูง) และตัวที่สี่ที่ต้องประเมินคือผลกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กร นำคะแนนทั้งสี่ส่วนมาบวกกันจะได้คะแนนรวมสำหรับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของแต่ ละประเด็น
ความน่าจะเป็น (ความถี่/ความเป็นไปได้) ของการเกิดเหตุการณ์ (Probability (Frequency/Likelihood) of Occurrence)
ความน่าจะเป็นของการเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจาก แต่ละประเด็นปัญหาจะใช้ระดับคะแนน 1 ถึง 5 เช่นกัน (กล่าวคือ 1 โอกาสเกิดขึ้นต่ำมากหรือยากที่จะเกิดขึ้น; 5 โอกาสเกิดขึ้นสูงมากหรือเกิดขึ้นทุกวัน) การประเมินผลกระทบจะพิจารณารวมกับมาตรการลดผลกระทบของกระบวนการ เช่นการควบคุมการปล่อยของเสีย จะใช้ระดับคะแนน 1 ถึง 5 เช่นกัน แต่มีความหมายตรงกันข้ามโดยที่ 1 เป็นระดับความสามารถในการควบคุมสูง; 5 เป็นระดับที่ควบคุมได้ต่ำหรือควบคุมไม่ได้ เมื่อนำคะแนนโอกาสที่จะเกิดรวมกับคะแนนมาตรการลดผลกระทบ ผลรวมที่ได้จะเป็นระดับของความน่าจะเป็นของการเกิดเหตุการณ์ของผลกระทบ
การกำหนดประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ (Designation of Significant Environmental Aspects)
นำคะแนนผลที่เกิดมาคูณกับคะแนนความน่าจะเป็น ที่จะเกิดของแต่ละประเด็นปัญหา จะได้ค่าระดับความเสี่ยงสัมพัทธ์ ISO 14001 ไม่ได้กำหนดระดับความเสี่ยงที่องค์กรต้องมีมาตรการป้องกันหรือกำหนด วัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อการปรับปรุง การตัดสินใจขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของบริษัท แต่ละองค์กรต้องกำหนดเกณฑ์สำหรับความมีนัยสำคัญของผลกระทบเอง โดยการพิจารณาทบทวนอย่างเป็นระบบถึงประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมรวมทั้งผล กระทบที่เกิดขึ้นจริงและที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้
สรุปประเด็นสำคัญ
• องค์กรควรมีขั้นตอนในการระบุประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมรวมทั้งผลกระทบจากทุก กิจกรรม ผลิตภัณฑ์และบริการอย่างเป็นระบบ และปรับปรุงข้อมูลเหล่านี้ให้ทันสมัยอยู่เสมอ
• ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องครอบคลุมถึงการปฏิบัติงานทั้งในสภาพที่เป็นปกติ และผิดปกติของการดำเนินงาน เช่น กระบวนการเริ่มการผลิตและหยุดการผลิต สถานการณ์ฉุกเฉิน องค์ประกอบทั้งหมดซึ่งรวมถึงการสนับสนุนการบริการ การซ่อมบำรุง การเก็บรักษา การขนย้ายและการขนส่งวัสดุอุปกรณ์ และผลตกค้างจากการดำเนินการก่อนหน้า
• ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (environmental impacts ) อาจหมายรวมถึงผลกระทบต่ออากาศ น้ำ ดิน มนุษย์ พืชป่าสัตว์ป่า คุณค่าทางประเพณีและวัฒนธรรม และความงดงามตามธรรมชาติ
• ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสำคัญ(Significant environmental aspects) คือปัญหาที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีนัยสำคัญ(Significant environmental impacts)
• องค์กรต้องกำหนดประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสำคัญ(Significant environmental aspects) โดยกระบวนการที่เป็นระบบและสมเหตุสมผล
• สูตรอย่างง่ายสำหรับการหาความมีนัยสำคัญขึ้นอยู่กับค่าความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมคือ
ความเสี่ยง = ความน่าจะเป็น x ผลที่เกิดขึ้น
• ต้องทำการประเมินประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ การติดตั้ง วัตถุดิบ หรือกากของเสีย
• แม้ว่าจะไม่ได้กำหนดมาตรฐานไว้ แต่ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ผลกระทบและนัยสำคัญของผลกระทบควรจัดทำเป็นเอกสารในรูปแบบของตารางข้อมูล
ประเด็นในการปฏิบัติและการตรวจประเมิน
1. ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ (Significant Environmental Aspects)ที่แท้จริงต้อง ได้รับการระบุ กล่าวคือ ISO 14001 ไม่ได้กำหนดวิธีการ สูตร ค่าตัวเลข ที่ใช้ในการกำหนดว่าอะไรเป็นประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญหรือไม่สำคัญ ดังนั้นต้องทำการตรวจทานรายการประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ (Significant Environmental Aspects) ว่ามีการระบุผิดที่ผิดทางหรือไม่ ผู้ตรวจประเมินต้องไม่หลง งงงวยกับ การใช้สูตรคณิตศาสตร์ใดๆ แต่ควรจะดูจากผลการประเมินว่า หลังจากผ่านกระบวนการชี้บ่งนี้แล้ว สิ่งที่ควรเป็นประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ (Significant Environmental Aspects) ได้สรุปว่าเป็นหรือไม่ บางครั้งรูปแบบการให้คะแนนทำให้ประเด็นเปลี่ยนไปได้แบบเลอะเทอะ
2. ตรวจสอบว่า ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ (Significant Environmental Aspects) ได้ถูกนำไปใช้ในการจัดวางระบบ EMSหรือไม่ เช่น การตั้งวัตถุประสงค์และเป้าหมาย(ดูเชื่อมโยงกับข้อกำหนดที่ 4.3.3), การควบคุมการปฏิบัติงาน(ดูเชื่อมโยงกับข้อกำหนดที่ 4.4.6), การตรวจติดตาม และการตรวจวัด (ดูเชื่อมโยงกับข้อกำหนดที่ 4.5.4) หรือ แผนการฉุกเฉิน(ดูเชื่อมโยงกับข้อกำหนดที่ 4.4.7) หรือไม่
3. ตรวจสอบว่า ระเบียบปฏิบัติว่าครอบคลุมถึงการ วิธีการในการกำหนด แยกแยะประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้อย่างเพียงพอเหมาะสมหรือไม่
4. ตรวจสอบผล ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ (Significant Environmental Aspects) ได้รับการพิจารณากระทบที่ได้รับการพิจารณาจากกิจกรรมที่เกิดมลภาวะ และการใช้ทรัพยากร, แผนกิจกรรมในอดีต และ อนาคตได้รับการพิจารณา, ผลกระทบภายใต้ภาวะปกติ, ผิดปกติ อุบัติเหตุและเหตุฉุกเฉินได้รับการพิจารณา, ประเด็นปัญหาที่มีนัยสำคัญ ถูกระบุออกมาโดยใช้เกณฑ์ที่ประกอบด้วย ระดับความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม, เกี่ยวข้องกับชุมชน และข้อกำหนดทางกฎหมาย
5. ตรวจสอบว่า ระเบียบปฏิบัติได้ให้กลไกสำหรับการจัดทำข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ในกรณีที่จำเป็นจากผลของการตรวจประเมิน, การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย และข้อมูลอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง
6. ตรวจสอบว่า ระเบียบปฏิบัติได้ถูกนำมาใช้งาน , สังเกตทุก ๆ พื้นที่ เพื่อตรวจสอบกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลภาวะ และใช้ทรัพยากร ได้รับการระบุอย่างครบถ้วน และทุกๆสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมได้รับการพิจารณา
7. มีการระบุ Aspects ครบถ้วนทุกกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการที่อยู่ในขอบเขตของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม หรือไม่ โดยการระบุ Aspects ของผลิตภัณฑ์มีการพิจารณา Aspects ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ลูกค้านำผลิตภัณฑ์ไปใช้ (Consumer Operation of Unit) และหลังจากผลิตภัณฑ์ใช้งานแล้วหรือเสื่อมสภาพ (End of Life) หรือไม่ (ในกรณีที่ทำได้)
8. ตรวจสอบว่าเกณฑ์การพิจารณา Sig. Aspects นั้นเป็นการจัดลำดับความสำคัญในการนำอันดับแรก ๆ มาดำเนินการแก้ไข หรือไม่
9. มีการจัดทำข้อมูลการประเมิน Aspects เป็นเอกสารหรือไม่ เช่น ทะเบียนลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อม ทะเบียนลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เกณฑ์การประเมิน และผลการประเมินลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น