นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นกรอบสำคัญ ในการจัดทำระบบ EMS
อะไรบ้างที่เราควรรู้ เข้าใจ
วัตถุประสงค์ของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
• นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรเป็นหัวใจ เป็นพื้นฐานหลักของการออกแบบและจัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
• ตราบใดที่อยู่ภายใต้กรอบของมาตรฐาน ISO 14001 การตัดสินใจและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมต้องสอดคล้อง กับถ้อยแถลงความมุ่งมั่นที่ระบุไว้ในนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
• ผู้ตรวจประเมินจะทำการสรุปผลการตรวจประเมินระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมโดย เปรียบเทียบกับสิ่งที่องค์กรได้มีการระบุไว้ในนโยบายสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นจำเป็นต้องทำการกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมขององค์กรอย่างเหมาะสม
ข้อกำหนด ISO14001
4.2 นโยบายสิ่งแวดล้อม
ผู้บริหารสูงสุดต้องกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมสำหรับองค์กร และต้องมั่นใจว่าอยู่ภายใต้ขอบเขตของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่กำหนดนั้น นโยบายสิ่งแวดล้อมต้อง
a) เหมาะสมกับลักษณะ ขนาด และผลกระทบที่เกิดขึ้นของกิจกรรม ผลิตภัณฑ์และบริการ
b) รวมถึงความมุ่งมั่นในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และการป้องกันมลพิษ (prevention of pollution)
c) รวมถึงความมุ่งมั่นในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมาย และข้อกำหนดอื่น ๆ ที่องค์กรเกี่ยวข้อง ที่ซึ่งมีความสัมพันธ์กับประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร
d) ให้กรอบสำหรับการกำหนด และทบทวนวัตถุประสงค์ และเป้าหมายทางด้านสิ่งแวดล้อม
e) ถูกจัดทำเป็นเอกสาร นำไปปฏิบัติและคงรักษาไว้
f) ถูกสื่อสารไปยังบุคคลทุกคนที่ซึ่งปฏิบัติงานให้ หรือปฏิบัติงานในนามขององค์กร
g) พร้อมที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณชน
นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมควรสะท้อนวิสัยทัศน์ เจตนารมณ์ ปรัชญา ค่านิยม และศรัทธา ขององค์กรในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องของสิ่งแวดลอม ผู้บริหารระดับสูงควรใช้ความคิดและวิสัยทัศน์เพื่อกำหนดนโยบายขึ้นเป็นอย่าง ดี เพราะนโยบายจะกลายเป็นบทบัญญัติที่องค์กรจะยึดถือต่อไป
นโยบายควรต้องเป็นแรงบันดาลใจที่สามารถปฏิบัติ ได้จริง และบอกทิศทางสำหรับใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจและทางเทคนิค ขณะเดียวกันก็ควรจูงใจและกระตุ้นให้พนักงานทุกคนสร้างความเป็นเลิศทางด้าน สมรรถนะสิ่งแวดล้อม
ข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO 14001 มีดังนี้
1. ผู้บริหารสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องทบทวนและอนุมัตินโยบายด้วยความรอบคอบ อีกทั้งต้องรับนโยบายเป็นพันธกิจ แม้ว่าโดยปกติแล้วนโยบายจะร่างขึ้นโดยผู้จัดการฝ่ายแล้วส่งให้ผู้จัดการ อาวุโสตามสายงานให้ความเห็นและแก้ไข แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผู้บริหารสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบนโยบายที่เขียนขึ้น
2. นโยบายต้องครอบคลุมการดำเนินงานทุกด้านขององค์กร การจัดการวัตถุดิบ การขนส่ง การบรรจุหีบห่อ การส่งผลิตภัณฑ์ ที่อาจมีผลต่อสิ่งแวดล้อม
3. นโยบายต้องมีพันธกิจสามด้านตามข้อกำหนดของ ISO 14001 ทั้งนี้เพื่อเป็นพันธะผูกพันสำหรับทุกคนในองค์กร กล่าวคือ
1) การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง( การปรับปรุงระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม และผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง)
2) การป้องกันมลพิษ (หาทางจัดการภาวะมลพิษให้หมดไป หรืออย่างน้อยก็พยายามให้เกิดภาวะมลพิษน้อยที่สุด)
3) พันธกิจที่จะปฏิบัติตามกฎหมายข้อบังคับต่างๆด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับท้องถิ่น ภาค และระดับชาติ และจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมแม้จะไม่ได้เป็นกฎหมาย รวมทั้งการทำตามนโยบายสิ่งแวดล้อมขององค์กรเอง
4. นโยบายต้องกำหนดทิศทางและกรอบการเดินไปสู่วัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม
5. ต้องมีการจัดทำเอกสารนโยบาย และนำไปปฏิบัติในการทำงานประจำวันภายใต้ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
6. นโยบายจะต้องทันต่อเหตุการณ์และเหมาะสมกับการปฏิบัติงานและสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง
7. ฝ่ายบริหารสูงสุดจะต้องสื่อสารให้พนักงานทุกคน และผู้รับเหมาช่วง
8. นโยบายต้องพร้อมที่จะนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะได้
นอกจากข้อกำหนดดังกล่าว ยังคงมีหลักการต่างๆที่อาจนำมารวมไว้ในนโยบายด้วย เช่น
• หลักการของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทรัพยากรหมุนเวียน และความหลากหลายทางชีวภาพ
• การรับเป็นพันธกิจว่าจะนำเทคโนโลยีที่ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุดมาใช้โดยมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ
• การใช้ตัวชี้วัดแบบเชิงปริมาณเพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม
• การคิดแบบครบวงจรว่ามีผลกระทบสะสมอย่างไร เริ่มต้นจากขั้นตอน การออกแบบผลิตภัณฑ์ การหาวัตถุดิบ การผลิต การบรรจุผลิตภัณฑ์ การขนส่ง จนถึงการใช้ผลิตภัณฑ์และการใช้ซ้ำ การเวียนใช้ หรือการกำจัดขยะ
การนำมาตรฐานนี้มาใช้ให้ได้ผลจะต้องมีการกำหนด หน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนา การพิจารณาให้ความเห็นชอบ การสื่อสาร การเผยแพร่ การนำไปปฏิบัติ การรักษานโยบาย และการทบทวนนโยบายเมื่อจำเป็น นโยบายสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนที่มาก่อนส่วนอื่นใน ISO 14001 แต่เพื่อความรอบคอบ องค์กรอาจรอไว้ก่อนจนกว่าจะกำหนดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงานและการ วางแผนตลอดจนการเตรียมการเบื้องต้นสำหรับระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม แล้วจึงค่อยเลือกถ้อยคำที่จะใช้ในการเขียนตัวนโยบายให้เหมาะสมตรงกับวัตถุ ประสงค์ขององค์กร
สรุปประเด็นสำคัญ
• นโยบายสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรการในการผลักดันในการปฏิบัติและการปรับปรุงระบบ การจัดการสิ่งแวดล้อมในองค์กรเพื่อการรักษาไว้และการพัฒนาการดำเนินงานใน ระบบให้ดีขึ้น
• นโยบายจะต้องแสดงถึงความมุ่งมั่นของผู้บริหารสูงสุดในการปฏิบัติกฎหมายและ ข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การป้องกันมลพิษและการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นโยบายสิ่งแวดล้อมต้องแสดงถึงค่านิยมและพันธกิจของบริษัทในส่วนที่เกี่ยวกับ การดำเนินงานทางสิ่งแวดล้อม
• นโยบายควรชัดเจน กระชับ สามารถปฏิบัติได้ และมีแรงบันดาลใจ สะท้อนถึงหลักการ ค่านิยม และเจตนารมณ์ขององค์กรต่อสิ่งแวดล้อม
• นโยบายจะต้องได้รับความเห็นชอบและสนับสนุนโดยฝ่ายบริหารสูงสุด ซึ่งจะเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมโดยการกระทำเป็นตัวอย่าง
• นโยบายสิ่งแวดล้อมควรเสริมกับนโยบายอื่นขององค์กร เช่น นโยบายด้านคุณภาพ สุขภาพและความปลอดภัย และความสำคัญทางธุรกิจ
• นโยบายจะต้องแสดงถึงแนวทางในการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย นโยบายจะต้องมีความชัดเจนและเข้าใจต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก องค์กร
• นโยบายจะต้องได้รับการทบทวนและแก้ไขตามรอบระยะเวลาที่เหมาะสมตามสถานการณ์ และข้อมูลที่ได้รับมา สำหรับพื้นที่ที่มีการประยุกต์ระบบฯ หรือขอบเขตจะต้องระบุให้ชัดเจนและแสดงถึงธรรมชาติของกิจการอย่างเด่นชัด รวมไปถึงขนาดและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของกิจกรรม ผลิตภัณฑ์และบริการภายใต้ขอบเขตที่ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมได้กำหนดไว้
• นโยบายสิ่งแวดล้อมจะต้องสื่อสารไปสู่บุคลากรที่ทำงานหรือผู้ทำงานแทนใน องค์กร นโยบายจะต้องสื่อสารไปสู่ผู้รับจ้างช่วงที่มาทำงานในขอบเขตขององค์กรที่ได้ ระบุไว้ การสื่อสารไปสู่ผู้รับจ้างช่วงสามารถเลือกรูปแบบได้หลากหลาย เช่น กฎระเบียบ ข้อกำหนดในการทำงาน ระเบียบปฏิบัติและ/หรือวิธีการทำงาน สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงตามนโยบาย ผู้บริหารสูงสุดจะต้องระบุและจัดทำเป็นรูปแบบของเอกสารในเรื่องของนโยบาย สิ่งแวดล้อมขององค์กรที่เกี่ยวข้องที่เป็นส่วนหนึ่งหรือขององค์กรภายใต้ กำกับ
• ควรมีการติดประกาศแสดงนโยบายให้พนักงานได้เห็นโดยทั่วกัน และเปิดเผยต่อสาธารณะเมื่อมีผู้ต้องการทราบและจะเป็นการดี หากจะเป็นฝ่ายแสดงนโยบายต่อสาธารณะเสียเอง
• พนักงานทุกคนจะต้องมีจิตสำนึกและความเข้าใจอย่างชัดเจนในสาระและเจตนารมณ์ของนโยบายสิ่งแวดล้อม
• หมายเหตุ: ผู้บริหารสูงสุดอาจเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในระดับบริหารซึ่งมีรับผิดชอบในการดำเนินกิจการขององค์กรนั้นๆ
ประเด็นในการปฏิบัติและการตรวจประเมิน
1. ตรวจสอบว่านโยบายได้ถูกใช้ในการขับเคลื่อนระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในภาพรวมหรือไม่ และได้ดีเพียงใด
2. ตรวจสอบความมุ่งมั่นของผู้บริหารระดับสูงโดยทำการสัมภาษณ์ผู้บริหารสูงสุด เกี่ยวกับที่มาของนโยบายสิ่งแวดล้อมว่าพิจารณาจากอะไรบ้าง เช่น มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื่องอะไร เพื่อตรวจสอบว่าผู้บริหารสูงสุดเป็นผู้กำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมหรือไม่
3. ทำการตรวจสอบเนื้อหาสาระของนโยบาย ว่าสะท้อนถึงลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการในขอบเขตของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม หรือไม่ (ดูเชื่อมโยงกับข้อกำหนดที่ 4.3.1)
4. ทำการตรวจสอบเนื้อหาสาระนโยบาย การกำหนดกรอบกิจกรรม สิ่งที่จะทำ สิ่งที่องค์กรจะไม่ทำว่ามีความเหมาะสมกับธุรกิจ ขนาดขององค์กร และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการหรือไม่
5. ทำการตรวจสอบว่ามีข้อความแสดงความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และป้องกันมลพิษหรือไม่
6. ทำการตรวจสอบว่ามีข้อความแสดงความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อกำหนดอื่น ๆ หรือไม่
7. ทำการตรวจสอบว่า นโยบายได้ถูกนำไปจัดตั้ง จัดทำวัตถุประสงค์เป้าหมาย ตัวเนื้อหาสาระนโยบายต้องมีกรอบ (Framework) เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนด และทบทวนวัตถุประสงค์และเป้าหมาย หรือไม่ (ดูเชื่อโยงกับข้อกำหนดที่ 4.3.3)
8. มีการจัดทำนโยบายสิ่งแวดล้อมเป็นเอกสาร และมีการปฏิบัติตามนโยบายอย่างต่อเนื่อง หรือไม่ ตรวจสอบการนำนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติที่หน่วยงานต่าง ๆ ในองค์กร
9. ตรวจสอบความตระหนักของพนักงานและผู้รับเหมาช่วง ในเรื่องนโยบาย
10. ตรวจสอบว่า นโยบายได้มีสื่อสารไปยังพนักงานทุกคน และบุคคลอื่น ๆ ที่ปฏิบัติงานให้กับองค์กร หรือในนามองค์กร หรือไม่ (ตัวอย่างเช่น ผู้ส่งมอบ ผู้รับเหมา ผู้รับเหมาช่วง ลูกจ้างชั่วคราวและนักศึกษาฝึกงาน เป็นต้น)
11. ตรวจสอบการรับรู้ของสาธารณะที่มีต่อนโยบายสิ่งแวดล้อมและนโยบานต้องมีพร้อม ไว้เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะหรือไม่ เช่น ป้ายประกาศ แผ่นพับ หรือวารสารของบริษัท และเว็บไซต์ เป็นต้น
12. ตรวจสอบว่านโยบายได้รับการทบทวนจากผู้บริหารระดับสูงหรือไม่ สอบถามถึงเหตุผลในการไม่เปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายสิ่งแวดล้อม